söndag 14 maj 2017

พินัยกรรมท่านผู้หญิงพูนสุขให้แก่ลูก


“คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน”


เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

1)นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว

2)ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น

3)ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ

4)ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน

5)มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก

6)ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ

7)เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย

8)ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆ แม่เกิด

9)หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล

10)ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ

พูนศุข พนมยงค์

เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ 172 สาธร 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541

แม่มีอายุครบ 86 ปี 9 เดือน”



ปรีดี, พูนศุข, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ปาล หน้าบ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส



คือผู้ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น”

เมื่ออายุ 86 ปี พูนศุขเขียน ‘คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน’ ไว้ถึงการจัดการงานศพของเธอ โดยในข้อที่ 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น” แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าทำไมเธอจึงคิดเช่นนั้น แต่หากจะเดา คงเพราะเธอพอใจกับสิ่งที่ได้รับมาแล้วในชีวิต ทั้งในยามสุขและยามทุกข์



สามีของเธอ ซึ่งเป็นมหาบุรุษ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนเสมอมา เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่องค์การยูเนสโกยกย่องเมื่อคราวครบ 100 ปีชาตกาล (2543) ได้เคยเขียนจดหมายถึงพูนศุข ในโอกาสครบรอบวันแต่งงาน ปี 2511 ว่า

“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องจะได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”

ไม่ง่ายนักที่คนส่วนมากจะเห็นความพิเศษของพูนศุข เพราะตราบจนบัดนี้ คนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับปรีดีก็ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดี พุทธภาษิตสอนเราว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”

ถ้าพูนศุขรู้อนาคตและเลือกกำหนดชีวิตของตนได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเธอก็จะเลือกที่มีชีวิตคู่กับ ปรีดี พนมยงค์ เสมอ แม้จะต้องมีชีวิตที่ผันผวน แบบขึ้นสุดๆ และลงสุดๆ ก็ตาม เพราะอะไรเล่าจะมีคุณค่าไปกว่าการที่ได้ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น และมีคู่ชีวิตที่คิดและทำแบบเดียวกับเราในเรื่องอันยากจะทำได้นี้

ทั้งปรีดีและพูนศุขมีชีวิตที่คิดถึงบ้านเมืองและผู้อื่นอยู่เสมอ ดังก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ปาล ลูกชายนั้น พูนศุขเดินทางกลับมาดูใจ ส่วนปรีดียังอยู่ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดีได้เปรยกับนักศึกษาไทยคนหนึ่งระหว่างที่เดินเล่นด้วยกันในสวนที่ฝรั่งเศสว่า “ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมา” เธอย่อมภูมิใจที่มีสามีแบบนี้

ส่วนตัวเธอเองนั้น เมื่อนักข่าวมาสัมภาษณ์ในงานวันเกิดปีที่ 95 อันเป็นปีสุดท้ายของเธอ เขาถามว่าเธออยากได้อะไรเป็นของขวัญวันเกิด คำตอบของเธอไม่มีเรื่องสำหรับตัวเองเลย โดยตอบว่า “เป็นห่วงอนาคตของพวกเด็กๆ เพราะว่าพ่อแม่ต้องไปทำงาน เด็กก็ถูกปล่อย อยากให้พ่อแม่เอาใจใส่กับลูกให้มากๆ ใกล้ชิดลูกให้มากๆ เป็นห่วงเรื่องนี้”

พูนศุขจากโลกนี้ไปในคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดีพอดี (อนึ่ง ถ้านับอย่างเคร่งครัดก็ต้องว่าเธอถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 12 เพราะเลยเที่ยงคืนของวันที่ 11 มาแล้ว) เขาและเธอคงได้พบกันแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง และ 10 ปีที่พูนศุขจากไป เป็น 10 ปีที่เรายังคงคิดถึงชีวิตรักของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ประเสริฐอย่างยากจะหาคู่ใดเปรียบได้



ปรีดี–พูนศุข เมื่อแต่งงานครบ 50 ปี 16 พฤศจิกายน 2521


เธอคือคนดีคนนั้น … ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตของมหาบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งในยามสำเร็จและล้มเหลว และเป็นสตรีผู้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยชีวิตของเธอ !

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar