torsdag 1 december 2016

คำว่า "เสี่ยโอ" เริ่มมีการใช้เมื่อไร?

คำว่า "เสี่ยโอ" เริ่มมีการใช้เมื่อไร?
(กระทู้นี้ ไม่ได้ต้องการแซวใดๆนะครับ ผมเขียนในแง่ที่เป็นความสนใจอย่างซีเรียสถึงเกร็ดหรือแง่มุมเล็กๆ - ซึ่งสะท้อนอะไรที่ใหญ่กว่านั้น - ในประวัติศาสตร์ไทย)
เมื่อวาน ผมไปกินกาแฟกับเพื่อนคนไทยและฝรั่งจำนวนหนึ่ง (อยู่นี่ พิลึกดี ผมมีนัดเจอคนเสมอๆมากกว่าอยู่เมืองไทยหลายปีรวมกัน) มีเพื่อนคนนึงถามขึ้นมาว่า คำว่า "เสี่ยโอ" นี่ใครเป็นคนคิด และคิดขึ้นมาเมื่อไร
เรื่องใครเป็นคนคิด ผมบอกไม่ได้ แต่เรื่องเมื่อไร ผมคิดว่าผมพอจะบอกปีที่ใกล้เคียงได้
ผมคิดว่า น่าจะประมาณกลางทศวรรษ 2520 คือน่าจะราวประมาณปี 2526-2527
ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น? ผมไปเรียนปริญญาเอกตอนต้นปี 2526 ผมจำได้ค่อนข้างแน่ใจว่า ตอนที่ผมออกจากเมืองไทย คำนี้ยังไม่มีการใช้กัน อีกอย่าง ถ้าดูหนังสือใต้ดินชื่อ "ประวัติ 9 รัชกาล" (ที่หลังวิกฤติครั้งนี้ มีคนเอามาเผยแพร่ในชื่อยาวๆ "ความจริงย่อมลอยขึ้น เหนือน้ำ เหนือฟ้าเสมอ") ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี 2525 ยังไม่มีการเอ่ยถึงคำนี้ ซึ่งโดยลักษณะของหนังสือเล่มนั้น ถ้ามีการใช้คำนี้โดยแพร่หลายแล้ว น่าจะต้องเอ่ยถึงบ้าง
แต่ตอนผมกลับมาเมืองไทยชั่วคราวเพื่อเก็บข้อมูล ในปี 2528 ผมได้ยินคำนี้แล้ว ยังจำได้ว่า ตอนได้ยินครั้งแรก งงมาก ว่า "เสี่ย" ไหน? หรือทำไมจึงต้อง "เสี่ยโอ"? ต้องให้คนอธิบายให้ฟัง
เมื่อครู่ ผมลองเช็คข้อมูลอันหนึ่งเพื่อจะดูว่า ในช่วงกลางทศวรรษ 2520 มีอะไรที่เป็นปริบทที่อาจจะส่งเสริมให้เกิดคำนี้ขึ้นมา ก็พบว่า ปี 2522 คุณ "ยุวธิดา ผลประเสริฐ" (หรือ คุณ "สุจาริณี วิวัชรวงศ์" ในปัจจุบัน) เริ่ม "หายไปจากวงการ" ผมคิดว่านี่คงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีส่วน (contribute) ให้เริ่มมีการพาดพิงถึงบางคนด้วยคำว่า "เสี่ยโอ" คือถ้าเราคิดว่า คุณยุวธิดา หลังจาก "หายไปจากวงการ" กว่าที่จะเป็นข่าวลือซุบซิบแพร่หลายกว้างเต็มที่ และกว่าที่คนจะเริ่มพูดในเชิงลบต่อ "เสี่ย" อย่างแพร่หลายเต็มที่ ก็น่าจะราวๆ 2-3 ปี ก็จะตกประมาณกลางทศวรรษ 2525 - ช่วงเวลาที่ผมคาดไว้ข้างต้นว่า คำนี้เริ่มใช้ (2526-2527 ที่ผมไม่อยู่เมืองไทยครั้งแรก) ก็น่าจะใกล้เคียง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar