söndag 20 november 2016

1, บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยผ่านเครือข่ายราชสำนัก

(ตอนที่ 1 )
บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยผ่านเครือข่ายราชสำนัก

จากภูมิหลังทางการเมืองที่เจ็บปวดและความยาวนานกว่า 60 ปี ในการครองอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เกิดการบริหารจัดการทางอำนาจผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจนสถาบันพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่อาจจะเติบโตเข้มแข็งขึ้นนำการบริหารจัดการรัฐสมัยใหม่เพื่อแข่งขันในสงครามเศรษฐกิจแห่งโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้

4.1 สร้างเครือข่ายราชสำนักเพื่อบริหารจัดการรัฐ

เมื่ออำนาจของราชสำนักได้เริ่มตั้งมั่นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วราชสำนักก็ได้เปลี่ยนฐานะจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายรุกในทางการเมือง หรือเปลี่ยนจากด้านรองกลายเป็นด้านหลักของคู่ขัดแย้งทางการเมือง และนับแต่นั้นมาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงมิใช่บทบาทในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกต่อไป หากแต่เป็นบทบาทในระบอบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”
ราชสำนักได้แสดงบทบาททางการเมืองที่เป็นด้านหลักในการควบคุมกลไกของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่ถูกจัดสร้างขึ้นอย่างแนบเนียนที่เรียกว่า “เครือข่ายราชสำนัก” หรือเครือข่ายกษัตริย์Ù(Network Monarchy) โดยมีคณะองคมนตรีเป็นศูนย์กลางในการบริหารเครือข่ายอำนาจด้วยวิธีการถ่ายอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของราชสำนักไปสู่บุคคลที่มีสถานภาพสูงทางสังคมการเมือง และรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท โดยคำกล่าวแสดงเจตนาของบุคคลนั้นจะถูกสังคมตีความเป็นเสมือนความต้องการขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งบุคคลในลักษณะนี้สังคมได้เรียกขานด้วยถ้อยคำที่สั้นกะทัดรัดและแสดงคุณลักษณะได้ครบถ้วนว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”Ù
ในช่วงระยะเวลา 5 ทศวรรษ เครือข่ายราชสำนักได้ขยายตัวครอบงำไปในทุกวงการของสังคมไทย นับตั้งแต่วงการทหาร ตำรวจข้าราชการ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน แม้กระทั่งขบวนการ NGO (องค์กรพัฒนาภาคเอกชน) โดยทุกวงการจะมีแกนนำที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ในฐานะเป็นคนไทยตัวอย่าง และหลายคนได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นกระบอกเสียงของเครือข่ายราชสำนักว่าเป็นนักคิดตามแนวพระราชดำริที่ประชาชนควรจะเชื่อฟังและถือเป็นแบบอย่าง เช่น พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายแพทย์ประเวส วะสี, นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นต้น จนกระทั่งบุคคลเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งเงาแห่งพระองค์ที่คนในสังคมจะติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ในด้านกลับกัน บุคคลเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคมที่คอยตำหนิติเตียนผู้อื่นในสังคมนี้ โดยเฉพาะการตำหนิฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลักษณะของบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลผู้สูงอายุ และมีลักษณะเกาะกลุ่มกันทางความคิด ในฐานะเป็นผู้หวังดีต่อบ้านเมืองจึงทำให้ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามขึ้นนั้นเกิดภาพเชิงสัญลักษณ์เป็น “สถาบันผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”Ù ของสังคมไทย
การแสดงบทบาทของเครือข่ายราชสำนักในการโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งได้ตั้งมั่นมากว่า 5 ทศวรรษแล้วนี้ เป็นข้อมูลที่ดำมืดไม่อาจจะเปิดเผยได้ คนไทยจึงเห็นแต่เหตุการณ์การล่มสลายของรัฐบาลต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างจะแปลกประหลาด โดยมองไม่เห็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ราชสำนักเป็นตัวจักรสำคัญ ทำให้การเรียนรู้ทางการเมืองถูกจำกัดข้อมูลและทฤษฎีการวิเคราะห์ ดังนั้นนักรัฐศาสตร์ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยจึงกลายเป็นผู้ด้อยปัญญาโดยถูกครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยวาทะกรรมว่า “พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง” และทั้งการคิดและการกล่าวถึงพระองค์เป็นสิ่งต้องห้ามทางกฎหมายและทางวัฒนธรรม แต่แล้วทฤษฎีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ก็ได้ทำหน้าที่ของมัน กรณีวิกฤติการณ์การเมืองไทยเริ่มจากการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่ประชาชนพึงพอใจและเห็นประโยชน์ของนโยบายที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมคือรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 19 กันยายน 2549 และขยายสู่การก่อจลาจลของกลุ่มพันธมิตรฯ ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งติดต่อกันอีก 2 รัฐบาลคือ รัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย อย่างไร้เหตุผล และติดตามมาด้วยการเปิดเผยข้อมูลลับของทักษิณ ที่เปิดโปงเครือข่ายราชสำนัก ได้แก่พลเอกเปรม, พลเอกสุรยุทธ องคมนตรี, ม.ล.ปีย์ มาลากุล ที่มีการร่วมประชุมลับกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ กับประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นผลจากพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (รายละเอียดดูภาคผนวกท้ายเล่ม)
เครือข่ายราชสำนักจึงเป็นตัวจักรสำคัญของการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

4.2 บทบาทของวังในสายตาต่างประเทศ


ด้วยการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก นั้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคนสนใจทั้งที่ชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางอำนาจว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถครองราชย์ได้ยาวนาน
นายดันแคน แมคคาร์โก(Duncan Mccargo) ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ได้ทำการศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Pacific Review เมื่อ 4 ธันวาคม 2005 โดยมีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ลักษณะสำคัญของเครือข่ายกษัตริย์ไทยตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2544 ก็คือกษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมืองเวลาเกิดวิกฤต และการที่กษัตริย์เป็นต้นกำเนิดหลักของความชอบธรรมของชาติ กษัตริย์ทำตัวเป็นผู้ออกความคิดเห็นและชอบสั่งสอนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของชาติ และช่วยกำหนดวาระแห่งชาติผ่านพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี กษัตริย์แทรกแซงการพัฒนาทางการเมืองอย่างกระตือรือร้น โดยส่วนมากจะผ่านทางตัวแทนของพระองค์ เช่น องคมนตรีและนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจ โดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหัวหน้าของเหล่าตัวแทนคอยช่วยกำหนดลักษณะของรัฐบาลผสม และคอยตรวจสอบการดำเนินการทางทหารและการโยกย้ายต่างๆ ระบบการปกครองแบบเครือข่ายนี้ต้องพึ่งพาการจัดประชาชนที่เหมาะสม(โดยเฉพาะคนที่เหมาะสม) ไว้ในงานที่เหมาะสมซึ่งการจัดสรรตำแหน่งนี้เป็นบทบาทหลักของเปรม”
โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติการณ์ทางการเมืองปี 2549-2551 ที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนเกิดการฉวยโอกาสกระทำการรัฐประหารโดยทหารกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) และภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 แล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ยังก่อเหตุความวุ่นวายต่อเนื่องเพื่อขับไล่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงสวัสดิ์ จนถึงขั้นเป็นเหตุจลาจลให้ยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างอุกอาจ โดยทหารและตำรวจไม่กล้าใช้อำนาจดำเนินการปราบปรามหรือยับยั้งขัดขวาง จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็น “ม็อบเส้นใหญ่” โดยเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักนั้น จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนในต่างประเทศอย่างเปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างอุกอาจนั้นเป็นการกระทำของราชสำนักที่ไม่พอใจต่อตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยการขับเคลื่อนของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่แสดงตัวเด่นชัดในทางสังคมว่าเป็นตัวแทนของราชสำนัก หรือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เช่น บทวิจารณ์ของนิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส(The Economist) ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2008 โดยมีข้อความ ตอนหนึ่งว่า
“After the 2006 coup, the 15th in Bhumibol’s reign, officials tried to tell foreigners that protocol obliged the king to accept the generals’ seizure of power. Thais got the opposite message. The king quickly granted the coupmakers an audience, and newspapers splashed pictures of it, sending Thais the message that he approved of them. In truth the king has always been capable of showing his displeasure at coups when it suited him, by rallying troops or by dragging his feet in accepting their outcome. And he exerts power in other ways. Since 2006, when he told judges to take action on the political crisis, the courts seem to have interpreted his wishes by pushing through cases against Mr Thaksin and his allies—most recently with this week’s banning of the parties in the government”
“หลังจากเกิดเหตุการณ์การรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นครั้งที่ 15 ในรัชสมัยของกษัตริย์ภูมิพล เจ้าหน้าที่ทางการของไทยพยายามที่จะบอกชาวต่างชาติว่ารัฐพิธีบีบบังคับให้กษัตริย์ต้องยอมรับการยึดอำนาจของนายทหารในกองทัพ ในขณะที่คนไทยถูกบอกอีกอย่างหนึ่งว่ากษัตริย์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะผู้ก่อการรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวในหน้า 1 เสมือนเป็นการบอกว่ากษัตริย์ได้ให้การยอมรับกับการยึดอำนาจดังกล่าว ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะแสดงออกว่าทรงไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยต่อการยึดอำนาจ หากทรงเห็นเช่นนั้นโดยการสั่งการให้กำลังทหารภายใต้พระองค์ออกมาต่อสู้หรือแม้แต่การที่จะเลือกทรงนิ่งเฉยไม่ยอมรับผลดังกล่าวก็ได้แต่ทรงกลับเลือกที่จะใช้พระราชอำนาจในอีกทางหนึ่งแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อบรรดาผู้พิพากษาให้ดำเนินการจัดการกับวิกฤตการเมืองนั้น บรรดาศาลดูเหมือนจะได้แปลพระราชประสงค์ออกมาโดยการเร่งดำเนินการกับคดีต่างๆ ต่อตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายของเขา โดยล่าสุดโดยการตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลทั้งสามพรรคลง”Ù
จากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น “อาซาฮี ชิมบุน(The Asahi Shimbun)” ฉบับประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2008 ก็ได้แสดงความกังวลใจ ต่อการเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นห่วงเป็นใยต่อความมั่นคงของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยในกรณีที่หากเกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในหัวเรื่อง “สื่อญี่ปุ่นออกโรงเตือนไทยและนายอภิสิทธิ์” ดังความตอนหนึ่งว่า
“Thailand's credibility has been shattered in the international community. The weeklong siege of Bangkok's two airports from late November by the anti-Thaksin People's Alliance for Democracy (PAD) stranded many foreign tourists, including Japanese, and affected foreign companies operating in Thailand.
There are also concerns about the health of King Bhumibol Adulyadej, who has been playing a vital role in keeping the country together. The monarch turned 81 on Dec. 5 but did not give his customary pre-birthday address to the nation this year.
Unless the Thai government is able to regain its trust at home and abroad and reassure everyone, Japanese businesses in Thailand will have to re-examine their long-term strategies. The Japanese government ought to convey this concern to Abhisit.
The government and the people of Thailand also need to engage in open debate on the role of the monarchy in politics to ensure the establishment of their democracy over the long term. The Thais cannot secure political stability if they keep relying on the king to intervene in times of crisis”
“เครดิตความเชื่อถือของเมืองไทย ได้ลดต่ำลงอย่างมากในสังคมโลก โดยเฉพาะหลังการปิดสนามบินในกรุงเทพทั้งสองสนามเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มพันธมิตรที่ต่อต้านทักษิณซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ รวมทั้งชาวญี่ปุ่นและเกิดผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยด้วย
ความกังวลที่มีต่อสุขภาพของกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประเทศชาติซึ่งจะมีอายุใกล้ครบ 81 ปีในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ แต่ในปีนี้ไม่มีการออกมาพูดกับคนในชาติก่อนวันเกิด
รัฐบาลไทยจะต้องทำงานเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจของชาวญี่ปุ่นในไทยจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องสื่อสารไปยังนายอภิสิทธิ์ถึงเรื่องดังกล่าวนี้
ให้รัฐบาลและประชาชนชาวไทย มีส่วนร่วมในการเปิดเวที ถกปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมือง เพื่อที่จะเป็นการสร้างพื้นฐานประชาธิปไตยในระยะยาว ประชาชนไทยจะต้องไม่แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง เพียงการพึ่งพิงพระมหากษัตริย์ในการแทรกแซงเมื่อเกิดวิกฤต”Ù
ความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศและสื่อสิ่งพิมพ์ในต่างประเทศที่นำมาตีพิมพ์นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากจำนวนมากที่แสดงความเห็นเจาะลึกอย่างตรงไปตรงมาที่สื่อไทย และคนไทยไม่อาจจะรู้ความเป็นจริงเหล่านี้ได้ด้วยอำนาจเผด็จการทางกฎหมายและอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมของราชสำนัก

4.3 รูปธรรมอันน่าสงสัยจากถนอมถึงทักษิณ

นับตั้งแต่สิ้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพังทลายของรัฐบาลในหลายรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่มีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเข้มแข็งและมั่งคง ล้วนแล้วแต่ต้องพังทลายลงทุกรัฐบาลไปด้วยข้อกล่าวหาทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันคือ “ไม่จงรักภักดี” บ้างก็ถูกขับไล่โดยพลังมวลชน บ้างก็ถูกขับไล่โดยการรัฐประหาร ไม่เว้นแม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง และครองอำนาจยาวนานถึง 8 ปี ก็ต้องมีอันเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ กัน จนสามารถสรุปได้ว่าในช่วงนับแต่ปี 2506-2551 ซึ่งประวัติศาสตร์ได้เริ่มเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่ภาคพลเรือนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นนั้น ประเทศไทยก็ยังไม่อาจมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ และแม้ล่าสุดวิวัฒนาการของระบบพรรคการเมืองไทยได้พัฒนาสูงขึ้นจนถึงขั้นเกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจนทำให้การเมืองไทยเกิดเสถียรภาพด้วยการสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้คือ พรรคไทยรักไทย โดยการนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเวลา 2544-2549 และความมีเสถียรภาพของรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ได้ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2540 และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นมามากกว่าแต่ก่อนในระดับหนึ่งด้วยนโยบายสาธารณสุขที่ก้าวหน้าตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น จนเป็นที่ถูกตาต้องใจของประชาชนส่วนข้างมาก รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ เช่น รัฐบาลทักษิณ นี้ก็ยังไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่มีผลงานและมีคุณภาพมากกว่ารัฐบาลก่อนแต่กลับมีอายุสั้นกว่ารัฐบาลก่อนๆ ที่ด้อยคุณภาพกว่าเสียอีก โดยรัฐบาลทักษิณได้จบบทบาทลงด้วยการยึดอำนาจของฝ่ายทหารในข้อหาเดียวกันว่า “ไม่จงรักภักดี” อีกเช่นเดียวกัน
จากภาวะความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากระบอบเผด็จการทหาร ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเต็มใบ ดังที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อกังขาในทางวิชาการว่า การพังทลายของรัฐบาลจนไม่อาจจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลยนี้ เป็นผลมาจาก นักการเมืองไทยเลว หรือ อำนาจนอกระบบการเมืองไทยเลว กันแน่
ถ้าปัญหาความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยของไทยมีสาเหตุหลักมาจากอำนาจนอกระบบ ก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่า “อำนาจนอกระบบนั้นคือใคร?”

4.4 อำนาจนอกระบบคือปัจจัยหลักทำลายประชาธิปไตย

มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย จากสื่อมวลชน และผู้นำทางความคิดของสังคมที่มีแนวคิด “ศักดินาสวามิภักดิ์” โดยได้ประสานเสียงโฆษณามอมเมาประชาชนว่า “ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ไม่อาจจะดำเนินไปได้เหมือนต่างประเทศนั้น เกิดจากความเลวร้ายของนักการเมืองไทย” คำกล่าวเหล่านี้เป็นการโกหกของพวกนักวิชาการจอมตลบตะแลง โดยแท้จริงแล้วพวกเขานอกจากจะขี้ขลาดไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนอกระบบแล้ว พวกเขายังเกาะกลุ่มหาประโยชน์ทางการเมืองกับอำนาจนอกระบบหรืออำนาจเผด็จการอีกด้วย และทุกครั้งที่อำนาจนอกระบบใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล พวกเขาก็จะออกมาให้เหตุผลความถูกต้องของการยึดอำนาจและเข้ามาเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยการแต่งตั้งของอำนาจนอกระบบกันเป็นทิวแถว
หากเราจะเปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองไทยกับนักการเมืองต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือได้ว่ามีวัฒนธรรม และพัฒนาการใกล้เคียงกันแล้วก็จะเห็นได้ว่า “วาทะกรรม” ของพวกศักดินาสวามิภักดิ์นั้นเป็นการโกหกที่ต่อเนื่องมายาวนาน และใช้อำนาจเผด็จการทางกฎหมาย และอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมมาครอบงำความคิดของประชาชนไม่ให้กล้ามองทะลุม่านประเพณีว่าแท้จริงความเลวร้ายของระบบการเมืองไทยวันนี้อยู่ที่อำนาจนอกระบบที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือคุณภาพของนักการเมือง นั้นเราสามารถดูได้จากตัวชี้วัดก็คือ ดูจากคุณภาพของประชาชนซึ่งประชาชนในประเทศไทยก็มีคุณภาพทางการศึกษาในอัตราส่วนใกล้เคียงกันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เหมือนกัน หรืออาจจะสูงกว่าอีกหลายประเทศด้วยซ้ำไป แต่ทำไมประเทศเพื่อนบ้านของเราจึงสามารถปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันได้ต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ประเทศของเขามีความเจริญรุ่งเรืองได้
แท้จริงแล้วประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้ต่อเนื่องยาวนานนั้น เพราะเขาไม่มีอำนาจนอกระบบที่ทรงประสิทธิภาพเช่นประเทศไทยที่มีทั้งอิทธิพลทางการทหาร และอิทธิพลทางความคิดและวัฒนธรรมที่ทับอยู่บนหัวและคอยเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา
อำนาจนอกระบบที่ทรงพลังของไทยก็คืออำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มข้าราชการที่มีราชสำนักคอยหนุนหลังอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
(อ่านต่อตอนต่อไป...)



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar