söndag 20 november 2016

2, บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยผ่านเครือข่ายราชสำนัก

( ตอนที่ 2 )
4.5 โฆษณาด้านเดียว ทำลายประชาธิปไตย

การกล่าวโจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นการเข้าสู่อำนาจโดยใช้เงินซื้อเสียง และใช้เงินทุนมหาศาล เมื่อเข้ามามีอำนาจก็มากอบโกยโกงกินได้กลายเป็นวาทะกรรมที่พวกขุนนาง อาจารย์มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนสาย “ศักดินาสวามิภักดิ์” ได้ประสานเสียงกันจนกลายเป็นกระแสหลักครอบงำความคิดของสังคม จนกระทั่งไม่อาจจะมีพรรคการเมืองใดเลยที่จะมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยมาปกครองประเทศได้ จะมีก็แต่พรรคการเมืองที่โกหกหลอกลวงแนบเนียนที่สุด เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่รับใช้ฝ่ายเจ้ามายาวนานเท่านั้น จึงจะมีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ดังนั้นด้วยการสร้างวาทะกรรมเช่นนี้จึงไม่อาจเกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเป็นจริงเลย กล่าวคือนักการเมืองทุกคนกลายเป็นผู้ร้าย และพรรคการเมืองทุกพรรคกลายเป็นซ่องโจรในสายตาของประชาชน ซึ่งส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม “การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” และด้วยวาทะกรรมและวัฒนธรรมเช่นนี้จึงสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนอกระบบเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมือง ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีก็จะมีเด็กฝากของวังบ้าง ของทหารบ้าง จนถึงการรวบอำนาจไปทั้งหมดด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจ
ภาพการเมืองประชาธิปไตยในสายตาของเจ้าจึงเป็นภาพแห่งการล้มลุกคลุกคลานที่น่าสมเพชเวทนา ของพวกไพร่ พวกเจ๊กแป๊ะที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยแต่อยากมีอำนาจทางการเมือง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่มีเงินก็มีการซื้อเสียงกันมาโดยไม่รู้จักอับอาย
สมมุติว่าหากจะยอมรับแนวคิดของราชสำนักที่โจมตีให้ร้ายระบอบประชาธิปไตยอย่างเกินจริงแล้ว ก็จะขอให้ผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ลองตั้งคำถามในใจของตนดูเถอะว่า
“การเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง กับ การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารนั้น อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน” และ
“การเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง กับ การอยู่ในอำนาจตลอดการด้วยการหลอกลวงประชาชนว่าเป็นผู้มีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนนั้น อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน”
แม้จะมีการซื้อเสียงอย่างไร การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชนและตรวจสอบได้ทุกๆ 4 ปี แต่การเข้ามามีอำนาจโดยการยึดอำนาจและการมีอำนาจโดยการอ้างบุญบารมีนั้น ประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบเลยไม่ว่ากรณีใดๆ นอกจากจะใช้อำนาจเผด็จการทางกฎหมายปิดกั้นโดยมีคุกตารางข่มขู่แล้ว ยังใช้อำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมข่มขู่หลอกลวงว่าห้ามพูดถึงเพราะเป็นบาปกรรมที่จะตามติดไปชาติหน้าอีกด้วย
เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่ากระบวนการประชาธิปไตยของประเทศด้อยการพัฒนาทางการเมืองจะไม่มีการซื้อเสียง แต่จากความเป็นจริงได้พิสูจน์แล้วว่านักการเมืองที่ซื้อเสียงทุกคนนั้นไม่ได้ประสบชัยชนะทุกคน และมิใช่นักการเมืองทุกคนเป็นผู้ซื้อเสียงหมด และสาเหตุสำคัญที่ประชาชนต้องการผลตอบแทนจากการลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ก็เป็นเพราะระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของเขา ซึ่งประชาชนรับรู้รูปธรรมทางตรงได้เพียงเท่านี้ ด้วยเพราะการที่จะก้าวลึกเข้าไปด้วยการศึกษาแลกเปลี่ยนเพื่อรับรู้ความจริงแท้นั้น กระทำมิได้เพราะมีระบบกฎหมายคอยควบคุมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาตรา 112 และกบฏภายในราชอาณาจักร มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่อาจจะเข้าใจความจริงได้ว่าที่พรรคการเมืองไม่มีคำตอบให้ได้นั้นแท้ที่จริงก็เพราะพรรคการเมืองไม่มีความมั่นคงด้วยการถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบด้วยการปฏิวัติรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา และแก่นแท้ปัญหาคือ ความมั่นคงของพรรคการเมืองนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ซึ่งหลักฐานชัดเจนที่สุดที่ได้อธิบายให้เห็นชัดก็คือเมื่อเกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นแล้วในปี 2544 คือพรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงสามารถจัดทำนโยบายที่แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนได้จริง และประชาชนก็ได้แสดงถึงความเข้าใจต่อความดีงามของระบอบประชาธิปไตยด้วยการลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย อย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2548 โดยได้คะแนนเสียง ส.ส.สูงถึง 377 คน จาก ส.ส.ทั้งสภามี 500 คน ซึ่งสภาพการเมืองเช่นนี้ได้แสดงผลให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยแล้วว่าจะเกิดการแข่งขันเชิงนโยบายในระบบพรรคซึ่งจะลดทอนการซื้อเสียงลงอย่างแน่นอน แต่แล้วระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ก็เกรงกลัวการเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองของประชาชน ซึ่งจะลดทอนอำนาจนอกระบบของตน จึงได้ใช้กลไกทางสังคมทั้งหมดโดยเฉพาะทหาร อาจารย์มหาวิทยาลัยสื่อมวลชน และกลุ่มพลังมวลชนสายศักดินาสวามิภักดิ์ เข้าบดขยี้อย่างเป็นขบวนการโดยผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ประสานการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2548 หลังทราบผลการเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยได้ 377 เสียง โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯ จุดประกายไฟให้เกิดปัญหาแล้วระดมตีด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชน แล้วปิดท้ายด้วยละครฉากเก่าคือทหารออกมายึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 แม้คณะรัฐประหารจะจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ที่คณะทหารสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมกับยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ทางการเมือง กีดกันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำออกจากระบบการเมืองแล้วก็ตาม แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หลังการยึดอำนาจประชาชนก็ยังลงคะแนนให้พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นที่รู้กันของประชาชนว่าเป็นพรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีก แต่ฝ่ายเจ้าก็ไม่ยินยอมและได้แสดงบทบาทโดยใช้อำนาจนอกระบบกดดันรัฐบาลนายสมัครและนายสมชายให้พ้นอำนาจไป ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติโลก คือ เพียง 1 ปี มีถึง 4 รัฐบาล
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าประชาชนได้เห็นคุณประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตย และพึงพอใจต่อหลักการที่อำนาจอยู่ในมือของตนแล้ว แต่อำนาจนอกระบบต่างหากที่ไม่พึงพอใจที่อำนาจจะเป็นของประชาชน และอำนาจนอกระบบนี้เองได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่อาจจะพัฒนาต่อไปได้ ดังเช่นนานาอารยประเทศ

4.6 สร้างระบบตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายเดียว

การหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมืองไทยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ เป็นตำนานแห่งความเลวร้ายที่ฝ่ายขุนนางพยายามโฆษณาให้ร้ายจนกลายเป็นวาทะกรรมทางสังคมว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองแล้วไม่มีใครดีทั้งนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคอยตรวจสอบและควบคุมทรัพย์สินของทุกๆ คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคในระดับหมู่บ้านและตำบล โดยจะต้องแจ้งความมีอยู่ของทรัพย์สินทั้งของตนเอง ของเมีย และของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยพวกขุนนางข้าราชการและอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อ้างอิงหลักวิชาการอย่างน่าเชื่อถือว่าเป็นหลักการปกครองที่โปร่งใส ที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” และเพื่อความน่าเชื่อถือก็อ้างชื่อเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วยว่า “Good Governance” แต่ในความเป็นจริง มันกลับกลายเป็นวาทะกรรมที่หลอกลวง พูดจริงเพียงด้านเดียว
ผู้มีจิตใจอันเป็นธรรมลองตั้งคำถามตัวเองเถิดว่า “ระหว่างนายอำเภอ กับ ชาวนาที่เข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นนั้น ใครมีโอกาสโกงงบประมาณแผ่นดินมากกว่ากัน”
ตอบได้ทันทีว่า “นายอำเภอ” และตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงและรู้กันทั่วไปว่าทั้งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการเกือบทุกคนล้วนแต่ทุจริตทุกโครงการ ราชการที่ต้องเปิดประมูลงาน ผ่านการรับผิดชอบของตนในอัตราส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ต่ำสุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างอาคาร ทำถนน ขุดคลอง แล้วทำไมพวกข้าราชการเหล่านี้จึงไม่ต้องถูกควบคุมทรัพย์สิน เหมือนกับชาวนาที่เป็นกรรมการสาขาพรรคการเมือง?

แท้จริงระบบกฎหมายควบคุมทรัพย์สินของนักการเมืองก็คือการโฆษณาให้ร้ายด้านเดียว และกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบอบพรรคการเมืองซึ่งเป็นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

4.7 ข้าราชการ และองคมนตรีไม่ต้องแสดงทรัพย์สิน

ในการกล่าวอ้างระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่โปร่งใส แต่ข้าราชการทั้งระบบในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระมหากษัตริย์ กลับไม่ต้องแสดงการมีอยู่ของทรัพย์สินต่อสาธารณะเหมือนนักการเมืองและกรรมการสาขาพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งองคมนตรีผู้มีอำนาจตัวจริงในฐานะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ นอกจากไม่ต้องแสดงต่อสาธารณะแล้วยังไม่ต้องแจ้งการมีอยู่ของทรัพย์สินต่อ ปปช.ด้วยเช่นเดียวกัน
ความเป็นจริงในวันนี้ปรากฏว่าองคมนตรีเกือบทุกคนเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทเงินทุนธนาคาร อาทิเช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นที่ปรึกษาของธนาคารกรุงเทพมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งองคมนตรีซึ่งก็เป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมนี้
สำหรับข้าราชการที่ต้องแจ้งทรัพย์สินก็มีเฉพาะข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง(ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่แจ้งทรัพย์สิน) แต่ระบบตรวจสอบก็ไม่เข้มข้นเหมือนอย่างของนักการเมืองที่ต้องแจ้งทรัพย์สิน และต้องนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของเอกสารก็มีสิทธิถูกดำเนินคดี และอาจถูกถอดถอนหลุดจากตำแหน่ง หรือติดคุกติดตะรางได้
ผู้มีจิตใจอันเป็นธรรมลองคิดดูหน่อยเถอะว่า ทหารและตำรวจ ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคม การเมืองไทยทำไมไม่ถูกควบคุมด้วยระบบกฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สินเหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ก้าวเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเล่า?
รวมตลอดถึงผู้ที่อยู่ในราชสำนักที่หาผลประโยชน์จากระบบการเมืองกันอย่างขวักไขว่ไปหมด ทำไมไม่ต้องถูกตรวจสอบด้วยระบบการแจ้งทรัพย์สิน เหมือนอย่างเช่นนักการเมืองเล่า?
มีแต่ข้าราชการการเมืองผู้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทเท่านั้นหรือที่ทุจริตเป็น, ส่วนข้าราชการประจำผู้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทเท่านั้นทุจริตไม่เป็นใช่ไหม?

4.8ความร่ำรวยของพลเอกสุรยุทธ์ ตัวอย่างธรรมาภิบาลด้านเดียว

จากหลักฐานหนังสือ “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ความจริงวิกฤตการเมือง” สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงว่าแม้แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งองคมนตรี อย่างเช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีประวัติมัวหมองว่ามีทรัพย์สินจำนวนมากเกินกว่ารายได้ที่เกิดจากการรับราชการอันเป็นปกติได้อย่างไร โดยกล่าวว่า
“นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อ้างตัวเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดชีวิต แต่กลับมีสินทรัพย์และเงินสดทั้งหมดทั้งของตัวเองและของภรรยาที่แจ้งต่อ ปปช.รวมถึง 94 ล้านบาท เฉพาะทรัพย์สินของภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการทหารแค่ยศระดับพันเอกกลับมีทรัพย์สินมากถึง 65,566,363.11 บาท (หกสิบห้าล้านห้าแสนหกหมื่นหกพันสามร้อยหกสิบสามบาทสิบเอ็ดสตางค์) เฉพาะเครื่องประดับของพันเอกหญิงคุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายกรัฐมนตรีนั้น มีเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีและมีนาฬิกายี่ห้อดังๆ เป็นมูลค่ารวมถึง 14,157,000 บาท(สิบสี่ล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นเจ็ดพันบาท) และยังมีบ้านพักตากอากาศสวยหรูบนยอดเขายายเที่ยง อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการใช้อิทธิพลเมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคเข้าครอบครองโดยใช้งบประมาณทหารทำถนนลาดยางจากตีนเขาถึง ยอดเขารอบบ้านซึ่งเป็นความผิดอย่างชัดแจ้งในอดีตแต่ไม่เคยถูกตรวจสอบเลยจนกระทั่งก้าวเข้าสู่วงจรการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งหากไม่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมืองสินทรัพย์ที่ได้มาเมื่อครั้งเป็นทหาร ก็จะไม่มีผู้ใดล่วงรู้
ที่กล่าวถึงรูปธรรมกรณีพลเอกสุรยุทธ์ ก็เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างที่เป็นจริงว่ายังมีผู้นำเหล่าทัพอีกมากมายที่มีอำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเต็มบ้านเต็มเมืองภายใต้คำอวดอ้างว่ารักชาติโดยไม่มีระบบตรวจสอบควบคุมเลยซึ่งจากโครงสร้างระบบราชการที่มีอำนาจเผด็จการทางกฎหมายและวัฒนธรรมของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยครอบงำอยู่เช่นนี้ย่อมเป็นการเพาะเชื้อร้ายของระบบคอรัปชั่นให้ขยายใหญ่โตและเข้มแข็ง และยิ่งมีการรัฐประหารเพื่อสร้างเกราะคุ้มกันระบบราชการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย การแก้ปัญหายิ่งมืดมน”Ù
กล่าวโดยสรุปแล้ว ธรรมาภิบาลที่โฆษณาเรียกร้องกันทั่วเมืองแท้จริงก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเจ้าที่จะควบคุมการขยายตัวของระบบพรรคการเมือง ด้วยความหวาดกลัวว่าอำนาจทางการเมืองของภาคประชาชนจะเกิดความเข้มแข็งขึ้นจริงในวิถีทางระบอบประชาธิปไตย
ธรรมาภิบาลหรือการบริหารที่โปร่งใสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ต้องทำทั้งกระบวนของผู้ที่มีการใช้อำนาจรัฐและมีโอกาสหาผลประโยชน์จากเงินภาษีอากรของประชาชนไม่ใช่ทำกับชาวนาชาวไร่ ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมือง เพียงเพราะเข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคการเมืองในชนบทอย่างเช่นทุกวันนี้

4.9 ใครกันแน่ที่เป็นทุนสามานย์?

“ทักษิณไม่เสียภาษีหุ้น, ทักษิณเป็นทุนสามานย์” ได้กลายเป็น วาทะกรรมทางสังคมที่นักวิชาการพันธุ์ “ศักดินาสวามิภักดิ์” ได้กล่าวโทษพ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี จนเกิดกระแสโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ
หากจะมองด้วยมุมมองการตรวจสอบอำนาจของผู้มีอำนาจแล้วการตรวจสอบการกระทำของนายกฯ ทักษิณ เป็นเรื่องที่ดียิ่ง แต่การตรวจสอบต้องยึดแนวพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่ทรงเตือนพสกนิกรว่า “อย่าใช้สองมาตรฐาน”หรือที่พูดติดปากเป็นภาษาฝรั่งว่า double standard แต่ปรากฏว่านักวิชาการและสื่อมวลชนที่แสดงตัวเป็นนักอุดมการณ์ในบ้านเมืองนี้ กลับไม่ยึดแนวพระราชดำรัส และใช้การตรวจสอบแบบสองมาตรฐานตลอดเวลา ซึ่งปรากฏความเป็นจริงว่าการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าบริษัทใดๆ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะการขายหุ้นของหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกข่าวนี้ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน รวมตลอดทั้งการขายหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ และอีกหลายบริษัทมหาชนที่ราชสำนักถือหุ้นใหญ่อยู่ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน แต่นักวิชาการและสื่อมวลชนสาย “ศักดินาสวามิภักดิ์” ต่างก็ปิดปากเงียบ
ทุนสามานย์คืออะไรกันแน่?
ในระบบทุนนิยมนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะลงทุนค้าขาย แข่งขันกันอย่างเสรีโดยปฏิบัติตามกรอบกฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาค ใครทำผิดกติกาย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังเช่นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าราชสำนักซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่สุดในประเทศไทย ได้ทำกิจการหากำไรเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ทั้งลงทุนเองและร่วมทุนกับเอกชนอื่นๆ นับเป็นร้อยๆ บริษัท ตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีกมากมาย บริษัทผลิตและค้าวัสดุก่อสร้างใหญ่สุด เช่น ปูนซีเมนต์ไทย จนถึงบริษัทประมูลรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ แต่ปรากฏว่ารายได้ทางธุรกิจที่เข้าสู่ราชสำนักและเชื้อพระวงศ์กลับไม่ได้เสียภาษีเงินได้ อีกทั้งเมื่อกิจการค้าเกิดวิกฤตต้องขาดทุน ซึ่งเป็นภาวะปกติของการทำธุรกิจที่ต้องมีทั้งกำไร และขาดทุนนั้น แต่กิจการของราชสำนักกลับใช้อำนาจรัฐนำเงินภาษีอากรของราษฎรไปค้ำจุนให้ เช่น กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นผลให้บริษัทเอกชนมากมายเกิดล้มละลาย แต่ในเวลานั้นรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยนายธารินทร์ นิมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็นำเงินภาษีอากรเข้าช่วยค้ำจุน ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นต้น หรือแม้บริษัทธุรกิจอื่นๆ ของราชสำนักที่ต้องประสบกับภาวการณ์ขาดทุน แต่ไม่ใหญ่โตถึงขนาดจะต้องเอาเงินภาษีอากรมาอุ้ม ก็ใช้วิธีผ่องถ่ายให้แก่กลุ่มทุนผู้จงรักภักดีต่างๆ รับเซ้งไป เช่น กรณีสถานีโทรทัศน์ ITV เป็นต้น
การบริหารจัดการทุนของราชสำนักดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ระบบทุนเสรีอย่างแน่นอน และก็ไม่อยู่ในฐานะที่ใครจะวิจารณ์ได้ นอกจากมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปิดปากแล้ว แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการปิดปากด้วยอำนาจมืดนอกกฎหมายด้วยการ “ถูกอุ้ม” หายตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของบ้านเมืองนี้
ลักษณะธุรกิจของทุนราชสำนักเช่นนี้อยู่ในคำจำกัดความของทุนสามานย์หรือไม่ พวกอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะตอบลูกศิษย์อย่างไร?
จะนำพระราชดำรัสเรื่อง “สองมาตรฐาน” มาอธิบายอย่างไร ดี!!!
( อ่านต่อไปในตอนที่ 3... )

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar