lördag 16 juli 2016

บทเรียนจากกบฏสีเขียวในตุรกีกับกบฏ คสช ของไทย

โดย จักรภพ เพ็ญแข
บทเรียนจากกบฏสีเขียวในตุรกี

ตุรกีมีอะไรคล้ายกับไทยหลายอย่างครับ แต่สิ่งที่แตกต่างมากในขณะนี้คือ ทหารในกองทัพก่อการรัฐประหารแล้วล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นกบฏเสื้อเขียวถูกเอาตัวไปเข้ากรงขังแล้วหลายพันนายและนาง รวมทั้งอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่มีข่าวลือว่าถูกยิงหัวจนด่าวดิ้นไปแล้วด้วย
หากจะถามว่า ทำไมการก่อกบฏในบางประเทศจึงสำเร็จ และทำไมในตุรกีครั้งนี้จึงล้มเหลว จนกลายเป็นนักโทษไปตามๆ กันในบัดนี้นั้น ผมขอคุยสั้นๆ เพื่อให้อ่านกันทันใจดังนี้ครับ:

1. ตุรกีมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างผู้นำศาสนาอิสลามกับ ผู้นำทหารฝ่ายฆราวาส หรือเรียกแบบไทยง่ายๆ ว่า ทะเลาะเบาะแว้งและแก่งแย่งอำนาจกันมานานระหว่างทางโลกและทางธรรม ฝ่ายโลกหรือฆราวาสนั้น ไม่ต้องการให้ตุรกีกลายเป็นรัฐศาสนาเหมือนอิหร่าน เพราะรู้ดีว่า ผู้นำแบบนี้จะอ้างพระผู้เป็นเจ้ามาข่มขู่มนุษย์เราเอาได้ง่ายๆ เพียงเพื่อให้มีอำนาจเหนือหัวมนุษย์คนอื่น ฝ่ายทหารในอดีตจึงเข้ายึดอำนาจหลายครั้งจนฝ่ายศาสนารวมสังขารไม่ติด แต่การกบฏครั้งล่าสุดที่เจ๊งไม่เป็นท่าไปแล้วนั้น เกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศ และใช้ความเป็นประชาธิปไตยนั่นเองลดอิทธิพลของฝ่ายศาสนจักรลงเป็นลำดับมา ถึงแม้ระบอบของประธานาธิบดีเออร์โดกันจะมีความผิดพลาดบกพร่องในหลายเรื่อง ชาวตุรกีเขาก็ยังสรุปว่า คนที่ตนเลือกตั้งมากับมือ ยังดีกว่าพวกมนุษย์ตัวเขียวที่เข้ามารวบอำนาจอย่างหน้าด้านๆ เพราะพวกนี้ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมอะไรเลย และต้องหาเรื่องฝ่ายประชาชนเรื่อยไป เพื่อจะยืดอำนาจผิดๆ ของฝ่ายตัวเองออกไปจนสิ้นเวร

เราสรุปบทเรียนบทที่หนึ่งได้ว่า เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย รู้จักปรับปรุงตัวเองจนลดความบกพร่องลง จะไม่มีระบอบเผด็จการทหาร หรือเผด็จการศาสนา หรือเผด็จการไสยศาสตร์หน้าไหนจะอ้างความชอบธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ทั้งนั้น เพราะมวลชนจะร่วมสู้กับพวกที่คิดทำลายลงจนสิ้นซาก อย่างที่เราเห็นในตุรกีขณะนี้

2. ฝ่ายทหารในตุรกี ไม่มีใครที่มีอำนาจสูงกว่าคอยชักใยอีกต่อหนึ่ง ทหารคือทหาร ไม่ใช่ยามเฝ้าบ้านของใครโดยเฉพาะ เมื่อทหารเกิดคิดสั้น อยากเข้าสู่อำนาจโดยไม่มีใครเขาเชิญ และก่อรัฐประหารขึ้น ทหารกลุ่มนั้นก็จะต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอดทางการเมืองเอาเอง ไม่มีใครมาคอยแก้ผิดให้เป็นถูก หรือไปกวาดต้อนพรรคพวกของตนมาประท้วงสร้างเงื่อนไขให้ทหารยึดอำนาจได้ง่าย ขึ้น ระบอบในตุรกีจึงเป็นเรื่องของ ระบอบทหาร ชนกับ ระบอบที่ประชาชนเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยกว่า ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่าง ระบอบทหารรับจ้างที่รับใช้แต่เจ้านายของตนเอง กับ ระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างใด
บทเรียนข้อ 2 คือ รำคาญหมาก็ต้องเอาเรื่องกับตัวเจ้าของหมา ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของเก่า หรือ เจ้าของใหม่ ก็ตาม

3. ประธานาธิบดีเออร์โดกันเป็นขั้วอำนาจหลักในตุรกีก็จริงอยู่ แต่เขายังมีนายกรัฐมนตรียิลดิรีมในทีมเดียวและเป็นอีกขั้วหนึ่งที่บริหารงาน ผ่านคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ทำให้เขาสามารถแยกบทบาทและร่วมรับมือกับกบฏเขียวพวกนี้ได้อย่างมั่นคง นี่คือสิ่งที่เราควรต้องศึกษาและพิจารณาอย่างจริงจังการสู้กับเครือข่าย เชื้อชั่วไม่มีวันตายนั้น เราจะต้องวางโครงสร้างทางอำนาจในฝ่ายประชาชนอย่างไร หัวเดียวกระเทียมลีบอย่างที่เคยนั้น เพียงพอหรือไม่ในการรับมือกับสัตว์ร้ายหลายหัวแบบในเทพนิยายกรีก
บทเรียนที่ 3 จึงสรุปได้ว่า บริษัทกับประเทศ (รัฐ) มีความแตกต่างกันมาก โครงสร้างและระบบที่วางไว้ทำงานย่อมต้องสะท้อนความแตกต่างกันนี้ด้วย
ตอนนี้เราจะหยุดไว้ตรงนี้และติดตามเหตุการณ์กันต่อไปนะครับ....
จักรภพ เพ็ญแข
16 ก.ค. 2559

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar