fredag 7 augusti 2015

Chaturon Chaisang ถอดรหัสมหากาพย์การเมือง : สิ่งที่ชนชั้นนำ– อำมาตย์ต้องการจะเกิดขึ้นได้มีเพียงทางเดียวคือต้องรัฐประหาร


Chaturon Chaisangs foto.

"...เป้าหมายที่แท้จริงของการเสนอให้ 'ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง' ก็คือการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบที่ชนชั้นนำและอำมาตย์สามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาล".
จาตุรนต์ ฉายแสง
11 กุมภาพันธ์ 2557
 
ผมเขียนเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ถอดรหัสมหากาพย์การเมือง : สิ่งที่ชนชั้นนำ– อำมาตย์ต้องการจะเกิดขึ้นได้มีเพียงทางเดียวคือต้องรัฐประหาร มีผู้รวบรวมไว้ อ่านฉบับเต็มhttp://two-gen.com/board/index.php?topic=5439.0

ถอดรหัสมหากาพย์การเมือง :

สิ่งที่ชนชั้นนำ- อำมาตย์ต้องการจะเกิดขึ้นได้มีเพียงทางเดียวคือต้องรัฐประหาร
แต่ปัญหาคือ ... ?

ก่อนจะมาถึงการแสดงอิทธิฤทธิ์ของสุเทพ เทือกสุบรรณ(ตอนที่ 1)

ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน กระบวนการที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ใช้จัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย อาศัยเครื่องมือหลักๆอยู่ 3 อย่างคือ (1). การเคลื่อนไหวบนถนนที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และสามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (2)ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ และ (3)ผู้นำกองทัพ

ในแต่ละครั้งที่มีการล้มรัฐบาลที่ผ่านๆมา พูดได้ว่ามีการใช้เครื่องมือทั้งสามชนิดนี้ เพียงแต่ในแต่ละช่วงอาจให้น้ำหนักเครื่องมือแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

ก่อนการรัฐประหารปี 2549 มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯกดดันจนรัฐบาลในขณะนั้นจนต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีการบอยคอตการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปได้ ก็ใช้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องกำหนดวันเลือกตั้งกันใหม่ แล้วในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้น ล้มทั้งรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน

คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาคณะหนึ่งพิจารณาตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ด้วยข้อหากระทำการให้ได้อำนาจการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้อาศัยคำสั่งของคณะรัฐประหารตัดสินให้มีผลย้อนหลังไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คน เพื่อไม่ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อจากนั้นได้

คณะรัฐประหารได้ร่างรัฐธรรมนูญกันขึ้นเอง ซึ่งเป็นการวางระบบการปกครองใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจอธิปไตยต้องไม่เป็นของประชาชน ชนชั้นนำและอำมาตย์จะต้องเป็นผู้กำหนดได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล และกำหนดได้ด้วยว่าจะให้รัฐบาลหนึ่งๆอยู่ได้นานเท่าใด

แต่ผลการเลือกตั้งกลับปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามแผนบันได 4 ขั้นของคมช. จึงมีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯอีก ถึงขนาดที่มีการยึดทำเนียบรัฐบาล ผู้นำกองทัพในขณะนั้นทีแรกบอกว่าเป็นกลาง ต่อมาก็ผสมโรงไปกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ แต่ก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ในที่สุดจึงใช้ศาลรัฐธรรมนูญปลดนายกฯสมัครออกด้วยเรื่องที่ไร้สาระที่สุดดังที่ทราบกัน

เมื่อได้รัฐบาลนายกฯสมชายมา พันธมิตรฯก็เคลื่อนไหวต่อ คราวนี้นอกจากยึดทำเนียบแล้วยังยึดสนามบิน 2 แห่งเสียด้วย ผู้นำกองทัพก็มาในสูตรเดิมก่อน คือบอกว่าต้องวางตัวเป็นกลาง นอกจากไม่ช่วยรัฐบาลรักษากฎหมายแล้ว ยังออกมาเรียกร้องให้นายกฯยุบสภาหรือลาออก แล้วในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯไปด้วย

นายกฯสมัครถูกปลดเพราะทำครัวออกทีวี ส่วนนายกฯสมชายถูกปลดเพราะกกต.เชื่อว่ามีกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งซื้อเสียงด้วยเงินประมาณ 20,000 บาท ถือว่าเป็นการกระทำให้ได้อำนาจการปกครองมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต้องยุบพรรคและเมื่อพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด รวมทั้งนายกฯสมชาย ก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

การที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันล้มรัฐบาลทั้งสองไปนั้น ได้ทำไปโดยขัดหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดและวุ่นวายได้ผ่อนคลายลง

พูดอีกอย่างก็คือ ยอมทำลายระบบยุติธรรมเพื่อแลกกับการล้มรัฐบาลที่ควบคุมไม่ได้ โดยอาศัยสถานการณ์ทางการเมือง

ต่อมามีการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา คราวนี้ผู้นำกองทัพไม่ได้บอกว่าวางตัวเป็นกลาง แล้วก็ช่วยรัฐบาลอภิสิทธิ์กระชับพื้นที่และยึดพื้นที่คืน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในที่สุดก็จับกุมแกนนำไปดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย

มาถึงขั้นนี้ก็เท่ากับว่าชนชั้นนำและอำมาตย์ได้ใช้เครื่องมือทั้งสามชนิดจัดการจนได้รัฐบาลที่พวกตนต้องการขึ้นมาจนได้

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งอีก พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้อีก พรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ไม่เป็นไปตามความต้องการของชนชั้นนำและอำมาตย์อีกจนได้

การที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปได้ง่ายๆ โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปเสียแล้วว่าจะแก้ทั้งฉบับก็ไม่ได้ จะแก้เป็นรายมาตราก็ไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่แปลกประหลาดที่สุด นั่นคือ การแก้รัฐธรรมนูญที่พยายามทำกันนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีเนื้อหาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ปิดประตูสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว และนั่นหมายความว่าการจะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยอาศัยรัฐสภาเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เสียแล้ว หากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้ออกฤทธิ์สร้างความไม่เป็นธรรมเช่นที่ผ่านมาอีก การจะหาทางแก้ปัญหาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญย่อมเป็นไปไม่ได้

การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยโดยอาศัยกระบวนการในระบบรัฐสภาจึงถูกปิดกั้นไปเสียแล้ว
https://www.facebook.com/Chaturon.FanPage


-สุเทพกับพวก ชนชั้นนำ และอำมาตย์ต้องการอะไรกันแน่(ตอนที่ 2)

เมื่อแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แล้ว ใครที่สนใจอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็คงพากันคิดว่า แย่แล้วที่จะต้องอยู่กับการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเช่นนี้ไปอีกนาน
แต่สุเทพกับพวกได้ทำให้ใครที่คิดเช่นนั้นต้องสรุปใหม่ว่าคิดผิดถนัด  ยังมีแย่กว่านั้นอีกมาก

สุเทพกับพวกลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมานำการเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ชนิดที่ไม่กลัวเกรงต่อกฎหมายเลยแม้แต่น้อย ทันทีที่สุเทพกับส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนลาออกพร้อมๆกัน มาเคลื่อนไหวบนถนน คอการเมืองก็พอจะคาดการณ์ได้แล้วว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่

หลายคนนึกถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์เคยบอยคอตการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ทันที การบอยคอตครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นทั่วกันว่าที่พรรคประชาธิปัตย์กล้าบอยคอตการเลือกตั้ง ก็เพราะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

แล้วก็เกิดอย่างนั้นจริงๆ  ในคราวนี้ ยิ่งพอพรรคประชาธิปัตย์พร้อมใจกันลาออกจากการเป็นส.ส.ทั้งพรรค ก็ยิ่งชัดเจนว่าเรื่องใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของสุเทพกับพวกนั้น ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่ล้มรัฐบาล แต่ยังมีข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลประชาชน ตั้งสภาประชาชน และให้มีการปฏิรูปประเทศด้วย

มีการเปิดเผยองค์ประกอบและที่มาของสภาประชาชน ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าเป็นสภาเผด็จการชัดๆ แล้วยังมีการเสนอว่าหลัก "หนึ่งคน หนึ่งเสียงเท่ากัน" นั้นใช้ไม่ได้สำหรับเมืองไทย ตั้งแต่ปฏิเสธระบบเลือกตั้ง และระบบพรรคการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเสนอให้ใช้ระบบใหม่แทน

สิ่งที่สุเทพกับพวกกำลังพยายามให้เกิดขึ้นก็คือ ระบบการปกครองที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจปกครองประเทศ แต่ต้องเป็นระบบที่ชนชั้นนำและอำมาตย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหารปกครองประเทศนั่นเอง


ความจริงสิ่งที่สุเทพกับพวกต้องการให้เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือสิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการให้เกิดขึ้นตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่ยังไม่เกิดเป็นจริงขึ้น เมื่อผ่านความผันผวน พลิกไปพลิกมาของสถานการณ์ในหลายปีมานี้ ชนชั้นนำและอำมาตย์ก็คงตกผลึกทางความคิดได้แล้วว่า ถึงเวลาที่ต้องทำให้สิ่งที่ต้องการมานานแล้วเป็นจริงเสียที

แต่ปัญหามีอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งสรุปไปหยกๆว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้แล้วไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แล้วจะปฏิรูปประเทศอย่างที่สุเทพกับพวกเสนอได้อย่างไร


หากจะปฏิรูปประเทศ ย่อมต้องแก้กฎหมายและแก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาก็ทำไม่ได้แล้ว การจะปฏิรูปประเทศได้ก็ย่อมหนีไม่พ้นการฉีกรัฐธรรมนูญ

ยิ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะแก้กฎหมายอะไรก็ทำไม่ได้แล้ว ข้อเสนอของสุเทพกับพวกที่ให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็ยิ่งไม่อาจเป็นไปได้ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

วิธีการที่สุเทพกับพวกใช้อยู่คือ การเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมายต่างๆนานา สร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ราชการต้องบังคับใช้กฎหมาย หากไม่บังคับใช้กฎหมาย ก็จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงและถูกตำหนิว่าไม่ทำหน้าที่ ปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย แต่ถ้าบังคับใช้กฎหมายก็จะเกิดการปะทะ กลายเป็นความรุนแรงและเกิดความสูญเสียขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพ "อนาธิปไตย" เป็นสภาพที่บริหารปกครองไม่ได้ หรือที่เรียกว่าเป็น “รัฐล้มเหลว” นั่นเอง

หลังจากขัดขวางการเลือกตั้งอยู่จนผู้ที่ต้องการสมัครรับเลือกตั้งในหลายจังหวัดในภาคใต้ยังไม่สามารถสมัครได้แล้ว ล่าสุดสุเทพก็ประกาศจะปิดกรุงเทพฯเป็นสัปดาห์ๆอีก

การปิดกทม.ย่อมจะทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นอีก จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศอย่างประมาณมิได้ บีบให้รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกัน และกลายเป็นความรุนแรงสูญเสียเพิ่มขึ้น

ยิ่งรุนแรงและสูญเสียมาก ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหารได้

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงและความสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ หรือเกิดสภาพความเป็นรัฐล้มเหลว ก็สามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารได้ทั้งสิ้น

มีความพยายามที่จะทำให้สิ่งที่สุเทพกับพวกต้องการให้เกิดขึ้นโดยกระบวนการทางรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน นั่นคือ การบีบบังคับให้นายกฯและรัฐมนตรีทั้งคณะลาออกเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งรัฐบาลคนกลางและตั้งสภาประชาชน แต่ช่องทางนี้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การจะลาออกทั้งคณะย่อมเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ การลาออกทั้งคณะจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

ความจริงแล้วหากไม่มีการตีความรัฐธรรมนูญกันตามใจชอบแล้ว การตั้งรัฐบาลคนกลางหรือสภาประชาชนไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้เลย หากมีการดันทุรังให้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่แตกต่างจากการฉีกรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนก็คือ การคัดค้านต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จนเกิดเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก และนั่นก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารได้อีก

วิเคราะห์จากสิ่งที่สุเทพกับพวกเสนอและวิธีการที่พวกเขาใช้อยู่แล้ว จะเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็มีแต่จะต้องเกิด “รัฐประหาร” เท่านั้น

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar