fredag 6 mars 2015

238 นักวิชาการเรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการในไทย




ภาพจากมติชน

คลิกดูเพิ่ม-เรื่องจากประชาไท
Thu, 2015-03-05

นักวิชาการ นักเขียน นักคิด จาก19ประเทศ อาทิ นอม ชอมสกี้, แคทเธอรีน โบวี่,ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, เควิน ฮิววิสัน, ดันแคน แม็คคาโก, เจมส์ ซี สก็อต, ไมเคิล บูราวอย ฯลฯ ชี้จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเป็นการขัดขวางการเรียนการสอน จำกัดจินตนาการ ความคิด การทำงาน และขัดขวางการกลับคืนสู่ระบอบที่มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก ประนามไล่สมศักดิ์ออกเป็นความร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์และคณะทหาร ผู้ลงชื่อทั้ง 238 คน เรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย
000
นักวิชาการ นักเขียน นักคิด เรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย
(เผยแพร่ วันที่ 4 มีนาคม 2558)

9 เดือนหลังจากที่คณะปฏิรูปแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้มีกลุ่มนักวิชาการ นักเขียน นักคิด จำนวน 238 คนทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องขอให้มีเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย นักวิชาการกลุ่มนี้เสนอข้อเรียกร้องด้วยจิตวิญญาณภราดรภาพและความเคารพต่อความจริง ก่อนหน้านี้ก็มีนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออกจากตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรม กลุ่มนักวิชาการ 238 คนนี้ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสูงและอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง พวกเขาวิจารณ์การไล่ดร.สมศักดิ์ออกว่าเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะทหาร

กลุ่มนักวิชาการ 238 คนนี้ไม่ได้ยกเสรีภาพทางวิชาการว่ามีความสำคัญเหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน หากแต่พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ยิ่งอันตรายในช่วงระยะที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เนื่องจากเป็นการ “ขัดขวางการเรียนการสอนของบรรดาอาจารย์และนักศึกษา ที่ภาระหน้าที่ปกติประจำวันคือการคิดและการพิจารณาความรู้และความหมาย ก่อให้เกิดการจำกัดจินตนาการและการทำงาน และขัดขวางการกลับคืนสู่ระบอบที่มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก”

กลุ่ม 238 นักวิชาการ นักคิด และนักเขียนนี้มาจาก 19 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา โคลัมเบีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไต้หวัน ประเทศไทย ตุรกี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในตอนท้ายของจดหมาย นักวิชาการกลุ่มนี้ เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ทุกๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย “ก้าวออกมาเป็นผู้นำในการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง”พร้อมกับเสนอว่า “การคิดต่างกันไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าหากไม่ได้คิดต่างกันในรั้วมหวิทยาลัยอันเป็นพื้นที่การเรียนการสอนและการแสวงหาความจริงแล้ว พื้นที่สำหรับความคิดนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มหดหายไปเช่นกัน”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar