torsdag 6 november 2014

"ปรอท" ใกล้แตก...สะท้อน "อุณหภูมิ" การเมือง....

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 พ.ย.2557)



ยิ่งแนวทาง "ปรองดอง" ปรากฏ "รูปธรรม" เด่นชัดมากขึ้นเพียงใด จะยิ่งมองเห็นภาวะหงุดหงิดปรากฏมากขึ้นเพียงนั้น

สัมผัสได้จาก นายถาวร เสนเนียม

"หาก สนช.ไม่รับการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช ไว้พิจารณา โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ สนช.จะต้องเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนแน่นอน"

สัมผัสได้จาก
นายสมชาย แสวงการ
"เมื่ออัยการไม่สั่งฟ้อง คสช.ก็ต้องพิจารณาว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนตัวและพิจารณาด้วยว่า นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ที่ดูแลคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีปัญหาหรือไม่ หากมีปัญหาก็ต้องเปลี่ยนตัว"

น้ำเสียงได้ "อารมณ์" พอๆ กับน้ำเสียง นายวิชา มหาคุณ

น้ำเสียงได้ "อารมณ์" พอๆ กับน้ำเสียง
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
น้ำเสียงเหล่านี้สะท้อนให้เห็น 1 ทิศทางการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช คล้ายกับจะไม่ได้ดั่งใจ 1 ทิศทางการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจขรุขระ กระดนโด่
เท่ากับเป็น "ปรอท" สะท้อน "อุณหภูมิ" การเมือง
กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 12 พฤศจิกายน อาจยังไม่แจ่มชัด เพราะมีปมของกฎหมายหลายปมเชื่อมโยงกันอยู่

แต่กรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช เริ่ม "ชัด"

ท่าทีของ สนช. "สายทหาร" หากสังเกตจาก พล.อ.นพดล อินทปัญญา อาจไม่พูดอะไรมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าการประชุมคราวก่อน

ยืนยันเพียงว่า
"ยึดหลักกฎหมาย"
น่าสนใจก็ตรงที่เป็นน้ำเสียงในกระสวนและท่วงทำนองเดียวกันกับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นั่นก็คือ
"ปฏิบัติตามกฎหมาย"
ความหมายที่เริ่มมองเห็นอย่างเด่นชัดก็คือ เป็นกฎหมายอะไร 1 เป็นกฎหมายลูก หรือ 1 เป็นกฎหมายแม่

ถามว่า ป.ป.ช.อ้างกฎหมายอะไรเล่าเป็นเหมือน
"เสาเข็ม"
คำตอบเด่นชัดยิ่งว่า ป.ป.ช.อ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่มีบัญญัติว่าด้วย
"การถอดถอน"ตรงนี้ย่อมมีความเด่นชัดในตัวเอง
ความหงุดหงิดของนายสมชาย แสวงการ ความหงุดหงิดของนายถาวร เสนเนียม จึงสะท้อนลักษณะอันภาษาจิตวิทยาเรียกว่า

อารมณ์
"ร่วม"
เป็นอารมณ์ร่วมอันสะท้อนถึงความรู้สึกของ สนช.อย่าง นายตวง อันทะไชย อย่าง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ด้วย

เป็นอารมณ์ร่วมอันสะท้อนถึงความรู้สึกของเหล่า
"นกหวีด"
เสียงสำทับอันกระหึ่มมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเข้ากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงมิได้พุ่งไปยัง นปช.หรือพรรคเพื่อไทย เพราะกลุ่มนี้หมอบนิ่งสนิท ประกาศไม่เคลื่อนไหวใดๆ

ตรงกันข้าม พุ่งเป้าไปยัง กปปส. พุ่งเป้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์

เพราะนายถาวร เสนเนียม เพิ่งนำเอา "มวลมหาประชาชน" ออกมาข่มขู่ สนช. เพราะการแถลงของนายถาวร เสนเนียม เป็นการแถลงในที่ตั้งอันเด่นชัด

เด่นชัดว่าเป็นของพรรคการเมืองใด

การขยับและขับเคลื่อนของนายสมชาย แสวงการ ประสานเข้ากับนายถาวร เสนเนียม ต่างหาก ที่บ่งชี้ทิศทางในทางความคิด
พร้อมแปร "ความคิด" เป็นปฏิบัติการทาง "การเมือง"
น่าเห็นใจในความพยายามของ คสช. น่าเห็นใจในความพยายามของรัฐบาล

เป็นความพยายามในการปรองดอง สมานฉันท์ เป็นความพยายามในการก้าวให้พ้นไปจากสิ่งที่เรียกว่า "กับดัก" ซึ่งดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา
หากก้าวไม่พ้น "กับดัก" ก็ยากยิ่งที่จะ "สมานฉันท์"
...................................................

แก้ไข–ไม่แก้แค้น

โดย หมัดเหล็ก 6 พ.ย. 2557 05:00 น.

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนจากสัดส่วน สปช. สนช. ครม. และ คสช. แก่นแท้ก็คลอดออกมาโดย คสช.ทั้งนั้น อันที่จริงให้ คสช.เป็นคนเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทีเดียวทั้ง 36 คนก็เหมือนกันไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะคนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ ก็กำหนดเอาไว้แล้ว คนเขียนรัฐธรรมนูญในสภาวการณ์อย่างนี้มีอยู่ไม่กี่คน มีชัย ฤชุพันธุ์
วิษณุ เครืองาม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทีไรก็ใช้นักกฎหมายมืออาชีพเหล่านี้แหละ
เพราะฉะนั้นเนื้อหาเจตนารมณ์ หลักการในการเขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอะไรแตกต่าง อาจจะเปลี่ยนถ้อยคำ รูปแบบไปตามสถานการณ์ แต่แนวคิดยังเหมือนเดิม การเมืองก็ยังจะติดหล่มจมปลักตามเดิม
อันที่จริง พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปน่าจะกำหนดไว้แล้ว ก่อนการยึดอำนาจด้วยซ้ำ เวลา 1 ปีของกรอบระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีความจำเป็น จะออกวันนี้ เดือนนี้ หรือภายใน 1 ปี เนื้อหาสาระไม่ต่างกันอยู่ดี
ยิ่งมีประเด็น ถอดถอนนักการเมืองคาราคาซังอยู่ในสภา โอกาสที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการตีตรานักการเมืองก็ยิ่งมากขึ้น นักการเมืองที่ถูกถอดถอนไปแล้วจะไปขอแก้ต่างที่ไหน ในเมื่อคนถอดถอน คนยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มาจากที่เดียวกัน ฟังคำสั่งเดียวกัน
คดีถอดถอนนักการเมือง แม้จะมีคำร้องคัดค้านอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำไม่ได้ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้อำนาจเอาไว้ พูดภาษาชาวบ้านรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้วจะมาตามล้างตามเช็ดเอาอะไรกันอีก
หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ได้กำหนดให้อำนาจ เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือข้อบังคับประชุมสนช. ไม่เป็นไปตาม หลักนิติธรรม เป็นการขัดหรือล้าง ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย หรืออ้างบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษมาเป็นเหตุถอดถอนไม่ได้ หรือการดำรงตำแหน่งของนักการเมืองได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมาดันทุรังถอดถอนให้เมื่อยตุ้มทำไม
เหตุผลเหล่านี้ เป็นหลักตรรกะง่ายๆ ไม่ต้องนักกฎหมายหรือพหูสูตผู้รู้ที่ไหนมาวินิจฉัย คนธรรมดาก็คิดออก นอกเสียจากว่า จะตั้งใจแก้แค้น หรือขุดรากถอนโคน ขั้วอำนาจทางการเมือง
ชนวนการเมืองอยู่ตรงนี้แหละ ที่เวทีการเมืองยังเงียบ ไม่มีเสียงตอบโต้ เพราะอดทนรอเวลาหนึ่งปีให้ประชาธิปไตยฟื้นคืนชีพมาเสียก่อน กฎกติกาจะออกมาบูดเบี้ยวอย่างไรก็สกัดนักการเมืองไม่อยู่
ถ้าการร่างรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้อยู่บนหลักการแก้ไขไม่แก้แค้นก็จะมีประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่ง แต่ถ้าต้องการจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกเครื่องมือในการชิงอำนาจทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมาหายนะแน่นอน ฟันธง.

หมัดเหล็ก




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar