lördag 5 juli 2014

เรื่องนี้ฝากคณะ คสช.ช่วยติดตามด้วย.. " เสียงคนจนจากสวนป่าโนนดินแดง.".เล่าเรื่องความเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันยุคทหารครองเมือง.




เสียงคนจนจากสวนป่าโนนดินแดง

 
อำเภอโนนดินแดง เป็นอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นตั้งของเขื่อนลำนางรอง เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เราสู้ เป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งหลายคนอาจเคยมาเที่ยว แต่คงน้อยคนนักที่จะรู้ว่าคนอำเภอแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่บอบซ้ำและเจ็บปวดอย่างไร ในวันนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างไร ผมจึงขอนำเสนอประวัติศาสตร์บางแง่มุมของอำเภอนี้ ให้ทุกท่านได้ทราบ
 
ป่าดงใหญ่ ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอโนนดินแดง (เดิมอำเภอละหานทราย) จังหวัดบุรีรัมย์ ในอดีตพื้นที่ตรงนี้ เรียกกันว่าพื้นที่สีแดง เพราะระหว่างปี 2516 - 2520 เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างทหารของรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ด้วยความเชื่อที่ว่า คอมมิวนิสต์อยู่ในป่า ดังนั้นต้องทำลายที่อยู่ของพวกคอมมิวนิสต์ รัฐจึงได้มีนโยบายที่เรียกกันว่า "การทำลายทัศนียภาพที่บดบัง ด้วยการสร้างเขื่อนเพื่อให้น้ำท่วมพื้นที่ป่า ตัดถนนเข้าสู่พื้นที่ป่าเขา และการเปิดพื้นที่ป่าไม้บางส่วนให้ราษฎรทำกิน จึงทำให้มีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตอนที่สร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 (ละหานทราย – ตาพระยา) ทหารช่างที่ทำถนนมักถูกโจมตีจาก พคท. อยู่เป็นประจำ จึงได้เอาชาวบ้านที่เข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวนี้แหละมายืนล้อมเครื่องจักรและรถที่ใช้ทำถนนเพราะเชื่อว่า สมาชิก พคท. หรือที่เรียกว่า “สหาย” เป็นลูกหลานของชาวบ้าน หากพวกสหายต้องการทำลายเครื่องจักรที่ใช้ทำถนน ต้องยิงญาติพี่น้องของพวกมันเองเสียก่อน
 
กระทั่งราวปี 2520 สถานการณ์สู้รบเริ่มคลี่คลายลงเนื่องจากเกิดการเจรจาระหว่างทหารและสมาชิกพรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศในเขตงานนี้ จึงเริ่มมีการอพยพชาวบ้านที่เข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวนี้ออกมา ต่อมามีการจัดพื้นที่ แห่งนี้เป็นหมู่บ้าน ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ความมั่นคง จำนวน 5 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 100 ครอบครัว แต่ละครอบครัว ได้ที่ดิน 16 ไร่ เป็นที่สาธารณหมู่บ้านละ 20 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 8,100 ไร่ เนื่องจากคนที่เคยทำกินอยู่มีจำนวนมาก กอ.รมน. ภาคที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่จัดสรรที่ดินดังกล่าว จึงใช้วิธีการคัดเลือกด้วยการจับฉลาก ในส่วนคนที่จับฉลากไม่ได้ก็อาศัยอยู่กับญาติบ้าง อพยพไปที่อื่นบ้าง หลังจากจัดสรรที่ดินให้แต่ละหมู่บ้านเสร็จ ยังคงเหลือพื้นที่ กว่า 2 หมื่นไร่ ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการจัดร่วมพูดคุยนายทหารที่คนในแถบนี้เรียกว่า เสธ. สนั่น และเรียกร้องให้นำที่ดินดังกล่าวนี้มาจัดสรรให้คนที่ไม่มีที่ดินและขอบครัวขยาย ซึ่งได้รับคำตอบว่า ที่ดินที่เหลืออยู่นี้ก็เก็บไว้เพื่อจะนำที่ดินมาจัดสรรพี่น้องและลูกหลานของพี่น้อง แต่ต้องรออีกสักก่อน รอให้ลูกหลานพี่น้องโตกว่านี้มีครอบครัว จะได้ดำเนินการจัดสรรในครั้งเดียวให้เสร็จ หลังจากได้รับคำสัญญาของ เสธ.สนั่น ซึ่งเป็นชายชาติทหารหาญ ก็พากันเดินทางกลับบ้านและเฝ้ารอวันที่จะได้รับการจัดสรร
 
ต่อมาในปี 2526 บริษัทเอกชนเข้ามาขอพื้นที่ดังกล่าวนี้ ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าจากนายทหารที่ชื่อว่า เสธ.สนั่น ไปก่อนที่จะมีการขออนุญาตตามกฎหมาย หลายคนอาจสงสัยและมีคำถามว่า ทหารมีอำนาจอะไรไปอนุญาต สิ่งที่รู้ก็คือในช่วงปี 2526 อำเภอโนนดินแดงเป็นเพียงตำบลหนึ่งในท้องที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีอาณาเขตติดกับกัมพูชา เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างทหารกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่พึ่งเริ่มจะสงบลง และที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และในปี 2531 และปี 2537 บริษัทต่างๆ รวม 7 บริษัท ได้ยืนหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่หรือเรียกง่ายว่าขอเช่า จากกรมป่าไม้เพื่อทำการปลูกสร้างสวนป่า โดยได้รับอนุญาต หรือ ให้เช่า ทั้งหมด 9 แปลง เนื้อที่ 23,746 ไร่
 
ในปี 2546 พื้นที่ที่กรมป่าไม้เคยให้บริษัทเอกชนเช่าจำนวน 2 แปลง หมดสัญญาเช่า บริษัทจึงได้ยื่นหนังสือขอต่อสัญญาเช่าให้องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรองความเห็นชอบ จึงทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันออกมาคัดค้าน และเรียกร้องให้นำพื้นที่ติดกับที่ทำกินมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ส่วนพื้นที่ด้านในให้นำไปฟื้นฟูเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไข แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายรายออกมาวิ่งเต้นและชี้แจงกับชาวบ้านแทนบริษัทเอกชนเพื่อให้บริษัทเอกชนต่อสัญญาเช่าได้
 
ในปี 2552 พื้นที่ที่กรมป่าไม้เคยให้บริษัทเอกชนเช่าอีก จำนวน 6 แปลง หมดสัญญาเช่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกลุ่มดังกล่าวได้มีเจรจากับชาวบ้านที่คัดค้านการต่อสัญญาของบริษัทเอกชน โดยขอให้บริษัทต่อสัญญาเช่าครั้งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้ชาวบ้านไปเรียกร้องให้รัฐจัดสรรให้ชาวบ้าน กระทั่งชาวบ้านแต่ละกลุ่มที่ออกมาคัดค้านการต่อสัญญาเช่าจึงตัดสินใจเข้าไปยึดที่ดิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการจัดสรรที่ดินตามคำสัญญาของทหารหาญ ชาวบ้านกลุ่มบ้านเก้าบาตรมีข้อเสนอให้จัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ผู้แทนกองทัพภาคที่ 2 ออกมาคัดค้าน และในวันนี้ทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ มีอำนาจเต็มที่ก็กลับมาใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ คือ “อพยพ”
 
ในอดีตทหารผลักดันให้พวกเราเข้าไปอยู่ ใช้พวกเราเป็นเกราะคุมกันให้ทหาร เมื่อเหตุการณ์สงบลงพวกเราหมดประโยชน์ ทหารก็ดำเนินการอพยพพวกเรากลับออกมา แล้วเอาที่ดินที่พ่อแม่ผมของพวกเราบุกเบิกมาไปให้บริษัทเอกชนเช่าเกือบ 30 ปี ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวนี้ทหารเคยสัญญากับพ่อแม่พวกเราว่า จะนำจัดสรรให้กับลูกหลาน และเมื่อสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวหมดสัญญาลง พวกเราในฐานะคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้กลับเข้าไปยึดพื้นที่เดิมอีกครั้ง แต่กลับถูกไล่เหมือนหมูเหมือนหมา ตัวผมเองถูกแจ้งความดำเนินคดีจนไม่กล้าที่จะกลับเข้าไปในพื้นที่อีก และวันนี้ทหารยังมาไล่พี่น้องคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ให้รื้อบ้านออกพื้นที่อีก ผมขอให้สังคมได้โปรดช่วยกันพิจารณาว่า การกระทำของทหารมีความเป็นธรรมกับพวกเราหรือไม่

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar