söndag 6 juli 2014

เมื่อแม่ทัพภาคสี่ 'เชิญ' เขาไปพบ :บันทึกของฮาร่า ชินทาโร่ เรื่องราวความจริงที่ทุกคนควรอ่านและศึกษาไว้เป็นบทเรียน....ยุคทหารเผด็จการครองเมือง.

ฮาร่า ชินทาโร่ ในวันแต่งกับนูรีสา มะรอแม สาวสายบุรี

รายงานโดย ชินทาโร่* บนหน้าเว็บ 'DeepSouth' ศูนย์ระวังสถานการณ์ภาคใต้  วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษปัตตานี ก่อนหน้านี้ผมเคยได้พบเขาหลายครั้งแล้ว คราวนี้เขาบอกผมว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองในพื้นที่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งผมก็รู้จักเจ้าหน้าที่คนนี้ด้วย เขาบอกว่าพวกนั้นต้องการดื่มกาแฟและคุยกับผม ผมจึงเสนอให้ไปพบกันที่ร้านกาแฟหน้ามหาวิทยาลัย ในนครปัตตานี

อีกสองสามนาฑีต่อมาผมได้รับการติดต่อจากรองอธิการบดีท่านหนึ่งบอกว่าการคุยกันครั้งนี้เป็นเรื่องซีเรียส เขาบอกให้ผมไปที่ห้องประชุมของสำนักอธิการบดีในวันรุ่งขึ้น โดยจะมีรองคณบดีประจำคณะของผมเข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุมกำหนดไว้ในเวลาแปดโมงเช้า ผมไปถึงห้องประชุมก่อนเวลา ๕ นาฑีห้องว่างเปล่าไม่มีใครเลย พวกทหารโผล่มาเมื่อเกือบชั่วโมงให้หลัง นอกจากเจ้าหน้าที่สองคนที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นแล้วยังมีคนในเครื่องแบบอีก ๗-๘ คน รวมทั้งช่างภาพของกองทัพสองคนมาด้วย

พวกเขาอธิบายว่าแม่ทัพภาคสี่ต้องการที่จะ จับกุม ผม แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าท่านแม่ทัพจะทำด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะควบคุมตัวผมไว้ ๗ วันตามกฏอัยการศึก จับกุมผมด้วยข้อหาทางอาญา หรือว่าเนรเทศผม

สาเหตุเนื่องจากเขาได้รับรายงานว่าผมไปออกสื่อวิจารณ์โจมตี คสช. คำชี้แจงนี้ทำให้ผมงงเพราะผมหยุดปรากฏตัวต่อสื่อใดๆ นับแต่เกิดการรัฐประหารแล้ว มีช่องทางเดียวที่ผมใช้ในการสื่อสารคือผ่านทางเฟชบุ๊ค ผมเลยถามว่าสื่อไหนล่ะที่รายงานอ้าง แต่คำตอบที่ได้รับก็ยังคลุมเคลือ

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองแจ้งว่าผมไปพูดที่ไหนสักแห่ง (ใช่ครับ ที่ไหนสักแห่ง) เกี่ยวกับสื่อเซลาตันวิทยุชุมชนในท้องที่รายการหนึ่งที่ทหารติดตามอย่างใกล้ชิด และผมเป็นแขกรับเชิญประจำในรายการภาคภาษามลายูที่เรียกว่า ดูเนีย ฮาริ อินิ (โลกวันนี้)

ตามคำกล่าวหาของพวกเขา ผมพูดไว้ว่าทางรอดของสถานีขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชนในท้องที่ ซึ่งกองทัพตีความออกมาได้ว่าเป็นการยุยง ผมก็ให้ข้อเท็จจริงในส่วนของผมที่พวกทหารดูจะพอใจ แต่กระนั้นผมยังจะต้องพบกับท่านผู้บัญชาการด้วยตนเองในวันรุ่งขึ้น (ที่ ๑๘) การพบกันจะมีที่ศูนย์หลบภัยของจังหวัดปัตตานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าประชุมด้วย

นี่ดูท่าจะไม่ดีเสียเลยเพราะผมได้เตรียมเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ประเทศอินโดนีเซียเอาไว้แล้ว ถ้าผมจะต้องถูกจับก็จะเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งสำหรับภรรยาผมที่ตั้งท้องได้สามเดือน เธอตั้งความหวังไว้มากในการเดินทางครั้งนี้ อย่างไรก็ดีผมประเมินสถานการณ์ว่าไม่เลวร้ายเท่าไรนัก การพบปะจะมีขึ้นในสถานที่พลเรือน และท่านผู้บัญชาการคงไม่ได้ลงมาปัตตานีเพียงแค่พบกับไอ้ยุ่นคนหนึ่ง จะมีการพบกับประชาชนหลังงานพิธีสวดเพื่อสันติภาพโดยผู้นำศาสนาในพื้นที่ อันเป็นงานที่ฝ่ายทหารเป็นผู้จัดขึ้น

คืนนั้นผมส่งอีเมลถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตของประเทศบ้านเกิดดั้งเดิมของผม ผู้ที่ผมเคยพบเมื่อตอนเขาลงมาปัตตานี ในคำตอบของเขามีคำแนะนำที่ดีมากสำหรับโอกาสนี้ เขายังรับปากว่าจะสอบถามเรื่องราวกับกระทรวงต่างประเทศของไทย เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าทางสถานทูตติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

การพบกับผู้บัญชาการกำหนดไว้ที่เวลาเช้า ๑๑.๐๐ น. เมื่อผมไปถึงมีแต่ผู้ช่วยของเขาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารสองคนที่ผมได้พบเมื่อวันก่อน ทุกคนอยู่ในเครื่องแบบ ท่านผู้ช่วยเป็นชายร่างเล็กท่าทางเป็นกันเองที่มักส่งยิ้มให้ตลอด สีผมของเขาดำขลับกว่าวัย (๕๗ ปี) เขาเป็นคนพูดเสียส่วนใหญ่ในการสนทนา เราคุยกันในเรื่องสัพเพเหระ บ่อยครั้งเขาย้ำว่าเขาเป็นชาวนราธิวาส ว่าเขารู้จักและใส่ใจกับคนในพื้นที่มากเพียงใด และเรื่องหลายแหล่ที่มันจะอันตรธานไปจากความทรงจำทันทีที่หยุดการสนทนา
การพูดคุยอย่างได้เนื้อหาดำเนินต่อไปอีกกว่าชั่วโมงจนกระทั่งพลโทวลิต ท่านแม่ทัพเดินเข้ามาในห้องประชุม พล.ท. วลิตไม่เหมือนกับพวกรองๆ ของท่าน ที่แสดงออกแจ่มแจ้งว่าไม่ชอบผม ด้วยสีหน้าขึงขังต่างกับคนไทยทั่วไป เขาเริ่มการสนทนาอย่างไม่อ้อมค้อมด้วยการบอกว่าผมได้กระทำความผิดร้ายแรงที่จะทำให้ถูก จับกุมได้

เขาเป็นบุคคลประเภทที่ไม่เห็นว่าจะมีความจำเป็นใดๆ ต้องเก็บงำความไม่พอใจ และควบคุมอารมณ์ร้ายเอาไว้ ไม่ถนัดนักในการจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง เขาเลือกที่จะเอ่ยถึงความร้ายแรงของการกระทำผิดมากกว่าจะแจ้งให้ทราบ ที่ว่าเป็นความผิดเหล่านั้นคืออย่างไร จากนั้นเขาเอาก็อปปี้รายงานที่เขาได้รับให้ดู ซึ่งเป็นโคว้ตข้อความที่ผมเคยพูดไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมปีที่แล้ว

ในวันนั้นต่อหน้าสาธารณะชนชาวปัตตานีกว่า ๓ พันคน ผมพูดว่าชาวบ้านควรที่จะสนับสนุนให้ ขบวนการบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) เข้ามาสู่การเจรจา ให้ทำการกดดันเพื่อที่บีอาร์เอ็นจะได้ไม่ลุกไปจากโต๊ะเจรจา แต่ในหมายเรียกตัวผมระบุแต่เพียงข้อความว่า “ชาวบ้านควรสนับสนุนบีอาร์เอ็น”

เขาถามผมว่าผมพูดข้อความเหล่านั้นจริงไหม เขาบอกผมว่าขณะนี้ คสช. ทำการยึดอำนาจไว้หมดแล้ว ผมจะวิจารณ์หรือโจมตีไม่ได้ ทำอย่างนั้นเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นในสังคม แต่ผมไปออกสื่อและวิพากษ์เราอย่างโจ่งแจ้ง ถือเป็นการก้าวร้าวที่จะยอมรับไม่ได้

ผมรู้ดีว่าบทบาทสำคัญมากอย่างหนึ่งของกองทัพคือการตีความใดๆ อย่างไรก็ได้ตามต้องการ ผมจึงไม่พูดถึงสิ่งที่พวกเขาเอามาโคว้ตในขณะนี้ ผมพยายามที่จะอธิบายในส่วนของผม แต่ก็เอ่ยปากออกไปได้แค่สี่ห้าคำ พล.ท.วลิตจะตัดบทการให้เหตุผลของผมไปเสีย นี่เป็นความประพฤติแบบที่ผู้สนับสนุนของ กปปส. กระทำกับคนที่ถูกสอบปากคำก่อนที่เขาจะได้ให้เหตุผลใดๆ

เขาถามว่าผมจะมีความสุขไหมถ้าไอ้ห่าคนต่างชาติเข้าไปในประเทศของผมแล้วทำแบบเดียวกับที่ผมทำไป ผมตอบว่ามันก็เป็นสิทธิของเขาหรือเธอที่จะทำอย่างนั้นนะครับ แล้วเขาถามต่อว่า “คุณจะพอใจไหมถ้าผมไปทำทำอย่างเดียวกันในประเทศของคุณ” ผมตอบว่าผมจะพอใจอย่างยิ่งและเคารพในสิทธิของเขา

คำตอบทั้งสองครั้งของผมไม่ทำให้ท่านพลโทพอใจเลยสักนิด เขาดูเหมือนจะเชื่อมั่นว่าใครๆ ควรจะคิดเหมือนกับเขา พล.ท.วลิตย้ำว่าผมทำอย่างนั้นไม่ได้ในประเทศของเขา มันเป็นสิ่งผิดกฏหมาย และบัดนี้กฏหมายทั้งหลายก็อยู่ภายใต้กำกับของ คสช.

ผมก็สาธยายให้พล.ท.วลิตทราบว่าผมไม่ได้ออกสื่อใดๆ เลยนับแต่ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างในการบริหารประเทศเป็นต้นมา ดังนั้นจะเป็นบุญคุณล้นเหลือถ้าหากท่านผู้บัญชาการจะกรุณาบอกผมหน่อยว่าสื่อไหนที่เอาข้อความบางตอนจากปาฐกถาของผมไปลงหลังจากที่ได้มีการยึดอำนาจ ทั้งๆ ที่ตามความจริงผมได้พูดไว้เมื่อปีกว่ามาแล้ว เมื่อตอนที่ประเทศนี้ยังอยู่ในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

พล.ท.วลิตบอกว่าผมไม่ต้องมาให้คำอธิบายใดๆ อีก มันมีปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์แล้ว ผมจึงถามว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนล่ะครับ ช่วยบอกผมหน่อยผมจะได้ติดต่อไปหาต่อว่าถึงการที่มี “พฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบอย่างชัดแจ้ง” เช่นนั้น ผู้บัญชาการเบือนหน้าจากผมไปหารองของท่านที่หลุดคำ “อั่มมมม” ออกมาหลายครั้ง แล้วบอกผมว่าคนของท่านจะติดต่อมาถึงผมภายหลังในรายละเอียดเหล่านั้น ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากที่จนวินาฑีนี้ก็ยังไม่มีมา

พลโทวลิตบอกว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ แต่ผมต้องเข้าใจว่ามันไม่ถูกต้องที่พูดอย่างนั้น ผมพยายามชี้แจงว่าผมพูดในมิติที่ต่างกันก่อนที่พลเอกประยุทธ์นายใหญ่ของท่านจะทำการยึดอำนาจการบริหารประเทศ ถ้าหากรัฐบาลอันชอบธรรม ณ เวลานั้นต้องการจับกุมผมในสิ่งที่ผมพูดกับสาธารณชนนับพันๆ และรายงานโดยสื่อจำนวนมากละก็ คงจะทำไปแล้ว

มันไม่ใช่กงการอะไรของผมที่ท่านเพิ่งได้เห็นในสิ่งที่ผมพูดเมื่อกว่าปี แล้วมากล่าวหาผมว่าไม่เคารพยำเกรง คสช. องค์กรซึ่งยังไม่มีตัวตนในเวลานั้นเลย แต่ท่านผู้บัญชาการมิใช่บุคคลที่จะพร้อมรับฟังคำของใครอื่น ซึ่งพูดในสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความรำคาญ

หลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ผมไม่อาจพูดอะไรได้เพราะมันเป็นสิ่งผิด ท้ายที่สุดเขาบอกให้ผมหยุดแสดงความเห็นต่อสาธารณะเพื่อสวัสดิภาพของตัวผมเอง

เขายังถามว่าผมมายังสถานที่พบกันครั้งนี้โดยคำเชิญหรือว่าด้วยหมายเรียกตัว ผมก็ตอบว่ามันเป็นการเชิญ เขาตอบว่า “ใช่แล้ว” เพราะไม่มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และสถานทูตของผมควรที่จะเข้าใจด้วยว่านี่ไม่ใช่การเรียกรายงานตัว ทำให้ผมทราบว่าการสอบถามจากสถานทูตในเรื่องนี้มีผลอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี เขาพูดต่อว่ามันเป็นสิ่งผิดที่ผมพูดอันปรากฏอยู่บน หนังสือพิมพ์ต่อไปจะมีมีการเชิญแล้วนะ วลิตบอกว่าถ้าหากผมกระทำความผิดอาญาอย่างนี้อีกละก็ เขาจะไม่เชิญมาคุย แต่จะออกหมายเรียกให้มารายงานตัวด้วยตนเอง แล้วต้องอยู่กับทหารของเขา ๗ วัน

จากนั้นการพบปะก็สิ้นสุดลง เมื่อผมยกมือ ไหว้ท่านพลโท เขากรุณายื่นมืออกมาจับเขย่า เขาจับมือผมอย่างกระชับแน่นยิ่งนัก แล้วเขย่าสองสามครั้ง ซึ่งก็คงตีความหมายไปในทางใดก็ได้
*หมายเหตุ ฮาร่า ชินทาโร่ เป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่นซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นครปัตตานีมาเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี เขาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่สามารถพูดและใช้ภาษามลายู (ทั้งพื้นบ้านและมลายูกลาง) ได้อย่างคล่องแคล่ว ปัจจุบันแต่งงานแล้วกับหญิงสาวพื้นบ้านชาวสายบุรี เขากล่าวถึงการมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ในการให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี ๒๕๕๖ ตอนหนี่งว่า เรามีหน้าที่การงานในสังคมที่นี่ อยากช่วยที่นี่ให้มีความแข็งแรง อยากเป็นหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนสันติภาพที่สำคัญ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar