måndag 21 juli 2014

ขอเป็นกำลังใจให้เธอ " บรรณารักษ์คนใหม่ในเรือนจำ" หกปีที่ผ่านไปคือช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตทำให้คุณได้เห็นได้เรียนรู้ปรัชญาแห่งชีวิตจากอีกโลกหนึ่งทำให้คุณได้ค้นพบตัวเอง หวังว่าคุณคงจะได้กลับคืนสู่อิสระภาพในเร็ววัน เพื่อมาสานฝันทำงานช่วยเหลือมวลมนุษย์ชาติตามเจตนารมณ์ของคุณ ....




ข่าวประชาไทย


วันที่ 22 กรกฎาคมปีนี้ นับเป็นวันครบรอบ 6 ปี ที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด’ ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
เธอนับเป็นนักโทษคดีการเมืองคนแรกๆ ที่ถูกคุมขังจากมาตรา 112

"ใฝ่ฝันหลังการพ้นโทษของเธอคือการเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ และนำเงินส่วนหนึ่งมาตั้งศูนย์ฮอตไลน์ช่วยนักโทษผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี เช่น ไม่มีทนายความ มีปัญหาเอกสาร เป็นต้น "

บรรณารักษ์คนใหม่ในเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีสำหรับดารณีในรอบ 6 ปีก็มีอยู่บ้าง นั่นคือ การได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณารักษ์ดูแลมุมห้องสมุดเล็กๆ ในแดนแรกรับ
เธอแจ้งว่า หากใครต้องการบริจาคหนังสือ สามารถบริจาคหนังสือได้ทุกประเภทยกเว้นเรื่องการเมือง และจะให้ดีควรบริจาคสองเล่ม เนื่องจากหากบริจาคเล่มดียวจะถูกส่งไปยังห้องสมุดในแดนนอกสำหรับผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด 
ช่วงหนึ่งเธอเล่าถึงหนังสือดีๆ ที่พอมีอยู่บ้างในเรือนจำ และกล่าวถึงหนังสือรวมบทสัมภาษณ์นักวิชาการในวาระ 100 ปี ปรีดี พนมยงค์  (ปรีดีเป็นชื่อที่เธอมักพูดถึงประจำเมื่อครั้งอยู่ในเรือนจำใหม่ๆ) โดยหยิบยกคำพูดของอาจารย์ฉันทนา ศิริบรรพโชติ หวันแก้ว ที่สร้างความประทับใจให้เธอว่า
“ความขัดแย้งจะเป็นตัวพิสูจน์ความเข้มแข็งของระดับประชาธิปไตย ความคิดขัดแย้งกันของคนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้” ดากล่าวและมันอาจเป็นคำถามที่ฝากถึงสังคมในวาระที่เธออยู่ในเรือนจำมาถึง 6 ปี

Time line คดีดารณี

เรียบเรียงจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์
22 ก.ค.51ถูกจับกุมที่บ้านพัก ไม่ได้ประกันตัว
25 ก.ค.51สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ศาลอาญารับคำอุทธรณ์ไว้
1 ส.ค.51ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก
9 ต.ค.51 ศาลรับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551
16 ต.ค.51สุธาชัย ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องในวันเดียวกัน
1 ธ.ค.51ศาลอาญานัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย โดยสั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. เนื่องจากจำเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายเมื่อปลายเดือนพ.ย. ประเวศ ประภานุกูล ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
4 ธ.ค.51
 
ทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนีจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์
ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และยกคำร้อง
15 ธ.ค.51 ศาลนัดสืบพยาน สืบพยานโจทก์ 23-25 มิ.ย.52 สืบพยานจำเลย 26-30 มิ.ย.52
23 มิ.ย.52  ศาลอาญา โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
24 มิ.ย.52  ดารณี เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ตนตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ 22 ก.ค. 51 และถูกขังมาเกือบ 1 ปี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ผู้ต้องคดีในข้อหาเดียวกันหลายคนได้รับการประกันตัว
ในคำแถลงดังกล่าว ดารณีตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดี ซึ่งศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟังว่า เหตุใดในคดีอื่นๆ "ในข้อหาเดียวกันประเภทเดียวกัน" การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกรณีอื่นๆ จึงไม่มีการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้ ซึ่งตนเห็นว่าการพิจารณาคดีโดยลับเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง
25 มิ.ย.52
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรธน. โดยระบุว่าการที่ศาลอาญามีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรธน.50 มาตรา40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา และขัดรธน.มาตรา 29 ที่บัญญัติเรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับรธน. และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรธน.มาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ทนายของดารณีแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต
28 ส.ค.52
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม จำคุก 3 กระทงๆ ละ 6 ปีรวมจำคุก 18 ปี
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
9 ก.พ.54ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้ว พบว่าไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 18 ปี และให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี
17 ต.ค.54
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40(2) ศาลอาญาจึงได้นัดพิพากษาคดีใหม่
15 ธ.ค.54
 
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี (โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าเหตุใดจึงลดโทษลงจากครั้งแรกจำคุก 18 ปี)
16 มี.ค.54ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวด้วยเงินสด 1.44 ล้านบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
12 มิ.ย.56
 
ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  โดยไม่ได้อ่านทั้งหมดอ่านเพียงคำสั่งล
โทษ มีเนื้อหาว่า “ยังเชื่อว่าจำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ สมควรให้ลงโทษสถานหนักเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และที่จำเลยอุทธรณ์มาฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 15 ปี”
9 ก.ย.56วันครบกำหนดเวลาที่ขอขยายระยะเวลาการยื่นฎีกา จำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ไม่สามารถฎีกาเป็นอย่างอื่นได้อีก

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar